ประกันโควิดพุ่ง 14 ล้านฉบับ ปรับกรมธรรม์-ขึ้นค่าเบี้ยลดเสี่ยง

โควิด
Photo by Ronny Hartmann / AFP

โควิดระลอก 3 รุนแรงต่อเนื่อง คนแห่ซื้อ “ประกันโควิด” ยอดขายทะลุ 13.8 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับพุ่ง 6 พันล้านบาท “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ดันยอดขายเดือน เม.ย.พุ่ง 3.15 ล้านฉบับ “อาคเนย์ฯ-กรุงเทพประกันภัย-วิริยะฯ-สินมั่นคงฯ” ปรับแผนอุตลุดเลิกขาย “เจอจ่ายจบ” บางรูปแบบหวั่นความเสี่ยงเพิ่มกระทบเงินสำรองบริษัท ออกโปรดักต์ใหม่เน้นค่ารักษา-ชดเชยรายวัน-แพ้วัคซีน เผยสถิติผู้ป่วยสะสมพุ่ง-ความเสี่ยงเพิ่ม จ่อหารือ คปภ.ขอปรับขึ้นเบี้ย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรงตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั่งทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งเกินพันคนต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด (30 เม.ย. 64) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 65,153 ราย เสียชีวิตรวมทะลุ 203 คน ทำให้ประชาชนให้ความสนใจกับการซื้อประกันโควิดในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น

คนแห่ทำประกันโควิดทะลัก

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันพบว่ายอดขายประกันโควิดเข้ามาเฉลี่ยวันละกว่า 1 แสนกรมธรรม์ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย. 64 ยอดขายทะลักเข้ามาค่อนข้างมาก ตั้งแต่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศทำสถิติทะลุหลัก 2 พันรายต่อวัน ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ในระดับกว่า 6 หมื่นรายแล้ว

ประเมินว่ายอดขายประกันโควิดเฉพาะเดือน เม.ย.น่าจะมากกว่า 3 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบปี 2563 ที่มียอดขายประกันโควิดทั้งสิ้น 9 ล้านกรมธรรม์ ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1/64 มียอดขายรวม 1.3 ล้านกรมธรรม์

20% คนติดเชื้อทำประกัน

ทั้งนี้จากความเสี่ยงยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมที่สูงขึ้นทุกวัน เริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบต่อแผนประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทประกันที่ขายอยู่เริ่มประกาศยกเลิกขายรวมถึงการปรับเงื่อนไขความคุ้มครองใหม่ เนื่องจากประเมินแล้วจะส่งผลต่อความสามารถในการแบกรับความเสี่ยง ซึ่งจะกระทบต่อเงินสำรองของบริษัทตามมาได้

“สถิติปีก่อนคนติดเชื้อโควิดทำประกันแค่ 10% เท่านั้น แต่ต้นปี’64 สถิติสูงขึ้นเป็น 15% และช่วงพีกในเดือน เม.ย. น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ซึ่งปัจจุบันคนซื้อประกันโควิดเริ่มครบระยะเวลารอคอย 14 วัน (waiting period) ฉะนั้นช่วงนี้คนติดเชื้อมีโอกาสเข้ามาแจ้งเคลมประกันสูงขึ้นได้อีก” นายอานนท์กล่าว

จ่อขึ้นค่าเบี้ยประกันโควิด

นายอานนท์กล่าวว่า หากยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมปรับตัวขึ้นไปถึงหลักแสนราย ประเมินว่าภาคธุรกิจอาจต้องเริ่มมาทบทวนขอปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันโควิดกับทาง คปภ. ซึ่งหากยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับ 2 พันรายต่อวัน คาดว่าประมาณปลายเดือน พ.ค.ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมจะทะลุแสนราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เห็นภาครัฐออกมาตรการคุมเข้มมากขึ้น ก็คาดหวังว่ายอดผู้ติดเชื้อน่าจะลดลงได้บ้าง

ประกันโควิดทะลุ 13.8 ล้านฉบับ

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากข้อมูลอัพเดตล่าสุด ณ วันที่ 22 เม.ย. 64 พบว่ายอดขายประกันโควิดในระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 13.8 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันรับรวม 5,925 ล้านบาท โดยยอดเคลมประกันรวม 195 ล้านบาท แต่เฉพาะเดือน เม.ย. 64 ซึ่งมีการระบาดระลอก 3 อย่างรุนแรง ทำให้มียอดขายประกันโควิดสูงถึง 3.15 ล้านฉบับ โดยยอดเคลมประกันอยู่ที่ 24.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยยื่นขอแบบประกันโควิดทั้งสิ้น 35 บริษัท แต่มีการเปิดขายจริงเพียง 23 บริษัท แยกเป็นบริษัทประกันวินาศภัย 16 บริษัท และบริษัทประกันชีวิต 7 บริษัท

ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสัญญาณหลายบริษัทประกันทยอยเลิกขายแผนประกันโควิดแบบเจอจ่าย ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตจาก คปภ. เช่นเดียวกับการปรับเงื่อนไขความคุ้มครอง ลดวงเงิน “เจอจ่ายจบ” และเพิ่มความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและโคม่าแทน รวมถึงการขึ้นค่าเบี้ยประกัน โดยที่เป็นการปรับขึ้นเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงราคาที่ได้รับความเห็นชอบจาก คปภ.

คปภ.ชี้เคลมต่ำไม่ใช่เวลาขึ้นเบี้ย

นายอาภากรกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน คปภ.ยังไม่ได้รับสัญญาณที่ภาคธุรกิจจะมาขอปรับขึ้นเบี้ยประกันโควิดรอบใหม่ เพราะถ้าประเมินเบี้ยประกันโควิดที่เข้ามาเกือบ 6 พันล้านบาท ภาคธุรกิจจ่ายเคลมประกันยังไม่ถึง 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก ขณะที่สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อรายวันก็เริ่มปรับตัวลดลงบ้างแล้ว

นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปี’64 คปภ.ออกคำสั่งนายทะเบียนให้บริษัทประกันพิจารณาส่วนลดเบี้ยประกันโควิด 20% ให้แก่ลูกค้าด้วยซ้ำ เพราะสะท้อนความเสี่ยงจากยอดเคลมที่ต่ำ ทำให้ปัจจุบันราคากรมธรรม์ที่ขายอยู่ในตลาดเป็นระดับที่ยังต่ำกว่าเพดานที่ คปภ.กำหนด

ปรับแผนลดวงเงินคุ้มครอง

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 64 บริษัทอาคเนย์ประกันภัยได้เลิกขายประกันโควิดเจอจ่ายจบแผน 3 เบี้ยประกัน 778 บาท วงเงินความคุ้มครอง 1.5 แสนบาท และแผน 4 เบี้ยประกัน 1,037 บาท ความคุ้มครอง 2 แสนบาท พร้อมเตรียมจะออกแผนประกันโควิดใหม่ ซึ่งความคุ้มครอง “เจอจ่ายจบ” ยังมีอยู่ แต่ลดวงเงินความคุ้มครองเหลือ 5 หมื่นบาท จากเดิมที่เป็นหลักแสนขึ้นไป และมาเพิ่มผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล และอาการแพ้วัคซีนตามความต้องการลูกค้า ซึ่งก็จะมีการปรับราคาเบี้ยประกันใหม่ด้วย ปัจจุบันพอร์ตลูกค้าประกันโควิด (เจอจ่ายจบ) ของบริษัทอยู่ประมาณ 5 แสนกรมธรรม์

แห่หยุดขาย “เจอจ่ายจบ”

รายงานข่าวจากบริษัทวิริยะประกันภัย ระบุว่า บริษัทจะหยุดขายประกันโควิด-19 ซูเปอร์ชีลด์ แผน 2 เบี้ยประกัน 599 บาท วงเงินคุ้มครอง 1 แสนบาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 64 เนื่องจากมีลูกค้าสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก จนเต็มความสามารถในการรับประกันต่อการจ่ายเคลมที่จะเกิดขึ้น

แหล่งข่าวจากบริษัทวิริยะประกันภัยกล่าวว่า ช่วงต้นเดือน พ.ค. บริษัทเตรียมออกแผนประกันโควิดใหม่ โดยยังคงมีความคุ้มครองเจอจ่ายจบ แต่ลดวงเงินเหลือหลักหมื่นเน้นเพิ่มค่ารักษาพยาบาล รวมถึงมีค่าชดเชยรายวัน ภาวะโคม่าและอาการแพ้วัคซีน เนื่องจากลูกค้าที่มีกำลังซื้ออยากขอเปลี่ยนเป็นแผนความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพราะกังวลสถานการณ์โควิด ทางโรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับต้องไปรักษาตัวในฮอสพิเทล ดังนั้นประชาชนจึงให้ความสนใจกับการซื้อประกันโควิดที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น

เช่นเดียวกับบริษัทกรุงเทพประกันภัย แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 64 เวลา 24.00 น.เป็นต้นไป บริษัทยุติการรับประกันภัยโควิด คอมพลีท แผน 1 เบี้ยประกันภัย 159 บาท, แผน 3 เบี้ยประกันภัย 459 บาท และแผน 4 เบี้ยประกันภัย 859 บาท ด้วยเหตุผลเพราะลูกค้าให้ความสนใจทำประกันภัยเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกินจำนวนที่บริษัทกำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนการรับประกันภัย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังจำหน่ายในส่วนแผน 2 เบี้ยประกันภัย 259 บาท

นอกจากนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ก็ออกประกาศระงับการขายประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบทั้งหมด 4 แผนคือ 1.แผนความคุ้มครอง 20,000 บาท เบี้ยประกัน 99 บาท 2.แผนความคุ้มครอง 50,000 บาท เบี้ยประกัน 199 บาท 3.แผนความคุ้มครอง 100,000 บาท เบี้ยประกัน 399 บาท และ 4.ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบรวมการแพ้วัคซีน ซึ่งได้หยุดขายไปตั้งแต่ 22 เม.ย. 64

TQM ลูกค้าทะลักระบบรวน

ด้านนางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีคิวเอ็มคอร์ปอเรชั่น (TQM) กล่าวว่า ปัจจุบันยอดขายประกันโควิดผ่านช่องทางขายของบริษัททะลุ 1 ล้านกรมธรรม์ไปแล้ว ช่วงพีกสุดคือเดือน เม.ย.มียอดขายเข้ามากว่า 3-5 หมื่นกรมธรรม์ต่อวัน โดยประมาณ 80% เป็นการซื้อประกันแบบเจอจ่ายจบ และที่เหลือ 20% เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวัน

“เนื่องจากในเดือน เม.ย. มีลูกค้าให้ความสนใจจำนวนมาก สอบถามเข้ามาเป็นหลักหมื่นรายทุกวัน จนบางวันกระทบต่อระบบของทีคิวเอ็มไปบ้าง ปัจจุบันระบบจองซื้อไม่มีปัญหา ส่ง SMS ยืนยันความคุ้มครองให้ลูกค้าได้ทันที แต่ระบบออกเอกสารกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยที่ต้องซับมิตมาให้จะล่าช้าอยู่บ้าง แต่คาดว่าตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไปจะกลับมาปกติ”

เช่นเดียวกับนางสาวปรมาศิริ มโนลม้าย รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจประกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด กล่าวว่า การกลับมาแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น ส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวทำประกันโควิดเพิ่มขึ้น ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าที่มาต่ออายุ บริษัทจึงนำเสนอความคุ้มครองที่หลากหลายให้เลือกมากขึ้น ทั้งแบบเจอจ่ายจบ ค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยรายได้ และอาการแพ้วัคซีนโควิด

และเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ลูกค้าสามารถซื้อได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่น SCB Easy ซึ่งเชื่อว่าเทรนด์การซื้อประกันด้วยตนเองจากแอปพลิเคชั่นจะเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น ยังช่วยให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองได้ง่าย ๆ