กสิกร มอง “แฮร์คัตหนี้รายย่อย” หุ้นแบงก์ได้ประโยชน์

ตลาดหุ้นไทย

บล.กสิกรไทย มอง “แฮร์คัตหนี้รายย่อย” หุ้นแบงก์ได้ประโยชน์เชิงบวกอ่อนๆ คาดจูงใจให้แบงก์กล้าทำดีกว่าถ่วงเวลา เหตุนำความเสียหายไปเป็นเครดิตภาษีได้ ชี้ราคาหุ้นปรับตัวบวกช่วงสั้นๆ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน(น็อนแบงก์) ปรับลดหนี้หรือแฮร์คัตเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้มากขึ้น โดยสามารถนำความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปรับลดหนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้นั้น ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกอ่อนๆ ต่อหุ้นในกลุ่มแบงก์ รวมทั้งหุ้นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่หุ้นน็อนแบงก์จะถูกจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรง หลังจากธนาคารออมสินเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและได้มีการลดดอกเบี้ยต่ำกว่าคู่แข่ง

“หุ้นแบงก์น่าจะพอได้ประโยชน์บ้าง เพราะการแฮร์คัตหนี้ทำกันอยู่แล้วเป็น normal operation แต่มาตรการนี้อาจจูงใจ(Incentive) ให้แบงก์กล้าทำในช่วงนี้มากขึ้น ดีกว่าถ่วงเวลาเอาไว้” นายกรกช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าแบงก์จะไม่ได้แฮร์คัตให้กับลูกหนี้ทุกราย โดยคงเลือกลูกหนี้ที่อาจต้องยอมแพ้ว่าไปไม่รอดจริงๆ หลังติดตามทวงหนี้ไปแล้ว ดังนั้นสู้ลดหนี้เพื่อนำความเสียหายที่เกิดขึ้นไปเป็นเครดิตภาษีน่าจะดีกว่า เพราะจ่ายทุกปีกันอยู่แล้ว และอย่างน้อยๆ ได้เงินคืนกลับมาบ้างยังดีกว่าเสียไปหมดเลย

“มาตรการนี้จะเป็นตัวเร่งให้กระบวนการเหล่านี้คุยกันได้เร็วขึ้น และแบงก์อาจจะแฮร์คัตหนี้ได้เยอะกว่านี้ เพราะส่วนต่างนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งปีหนึ่งๆ แบงก์จ่ายภาษีหลักหลายพันล้านบาท”” นายกรกช กล่าว

ทั้งนี้เนื่องจากการแฮร์คัตหนี้เกิดขึ้นเมื่อแบงก์ตัดหนี้สูญ(write-off) ไปหมดแล้ว ทำให้ในงบดุล(balance sheet) หรืองบการเงินที่นักวิเคราะห์มีอยู่ จะไม่เห็นตัวเลขลูกหนี้ว่าอยู่กระบวนการเหล่านี้เท่าไร และจะแฮร์คัตหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

นายกรกช กล่าวต่อว่า สำหรับเซ็นติเมนต์ในระยะสั้นๆ ต่อหุ้นแบงก์ ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะเข้าใจแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะมีบางกลุ่มกังวลถึงผลเชิงลบเพราะไปลดหนี้ให้ลูกหนี้กันหมด แต่ในมุมนักวิเคราะห์มองว่า ถ้านักลงทุนเข้าใจจริงๆ ตลาดหุ้นควรจะตอบในเชิงบวกกับตัวราคาหุ้น แต่คงไม่มาก เพราะประเมินตัวเลขยาก เนื่องจากอยู่นอกงบการเงิน