สบน. คาดปีงบ64 กู้เงิน พ.ร.ก.เพิ่ม 1 แสนล้าน หนี้สาธารณะพุ่งไม่เกิน 60%

สบน. ชี้พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ทยอยกู้ตามความจำเป็น คาดปีงบ’64 กู้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะอยู่ระดับ 58.56% เล็งทบทวนกรอบหนี้สาธารณะ –แผนบริหารหนี้ปีงบ’65 

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท) นั้น จะเป็นการทยอยกู้  แบ่งการกู้ตามความจำเป็น และแผนเบิกจ่ายจริง เหมือนกับพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่จะทยอยกู้เงินตามโครงการที่ได้รับการอนุมัติ คาดว่าปีงบประมาณ 2564 จะมีการกู้เงินในพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เกิน 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลังด้วย

อย่างไรก็ตาม สบน.จะใช้เครื่องมือในการกู้เงินต่างกันเหมือนเดิม จะไม่เน้นกระจุกเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง โดยในส่วนพันธบัตรรัฐบาล สบน. ก็จะดูแลไม่ให้ล้นตลาด ควบคุมปริมาณไม่ให้ต่างไปจากเดิม ซึ่งคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ หรือสิ้นเดือน ก.ย.64 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 58.56% ต่อจีดีพี ภายใต้สมมติฐานการกู้เงินตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท 100% และกู้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 1 แสนล้านบาท ยืนยันว่า การบริหารหนี้สาธารณะยังทำด้วยความรอบคอบ และช่วงเวลานี้เป็นวิกฤตโควิดที่เข้ามา เงินกู้เป็นเม็ดเงินที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือดูแลเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับต่างประเทศ

“ปัจจุบันเรายังบริหารหนี้ให้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเงินที่ลงไปสามารถพัฒนาประเทศ ทำให้จีดีพีขยายตัวได้ หนี้สาธารณะอาจจะมีไปแตะใกล้ๆ กรอบ หรือเกินกรอบหนี้สาธารณะที่ระบุไว้ 60% บ้าง แต่ถ้าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวก็จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะกลับลงมาได้ ฉะนั้น ขอย้ำเน้นว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งหลาย ยังมีมุมมองที่ดีต่อความแข็งแกร่งทางด้านการคลังของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมานโยบายการคลังของรัฐบาล ได้ดำเนินการรอบคอบ รัดกุม”

ส่วนหากมีการกู้เงินเต็มกรอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จะส่งผลให้ภาระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 เป็นอย่างไรนั้น ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนหนี้ปีงบประมาณ 2565 ทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมามีแผนหนี้ที่เข้ามาและไม่สามารถทำได้ค่อนข้างมาก จึงขอเวลาทบทวนแผนหนี้ปี 2565 ให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาแผนหนี้ที่สอดคล้องกับสภาพจริง ซึ่งคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะใกล้เคียงหรือแตะกรอบที่กำหนดไว้ 60% ต่อจีดีพี  

นางแพตริเซีย กล่าวว่า การพิจารณาปรับสัดส่วนหนี้สาธารณะ จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนต่างๆ ในปีนี้ เนื่องจากครบรอบ 3 ปี ในการทบทวนกรอบหนี้สาธารณะ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐก็จะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ จะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) หนี้สาธารณะที่กำหนดกรอบไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี (2) หนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กรอบกำหนดไว้ไม่เกิน 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 27% ต่อจีดีพี (3)หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กรอบกำหนดไว้ไม่เกิน 10% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8% และ (4) หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ส่งออกสินค้าและบริการ กรอบกำหนดไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06% 

ขณะที่กรณีก่อนหน้านี้มีการเตรียมวงเงินในพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องทางการคลังด้วย แต่พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติมที่ออกมาล่าสุดนี้ไม่มีนั้น นางแพตริเซีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นเพียงร่างพ.ร.ก. ฉะนั้น พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพียง 3 เรื่อง ได้แก่ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

“ที่ผ่านมาครม.อนุมัติกรอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท แต่เมื่อเห็นกฎหมายแล้วจำนวนที่ให้กู้คือ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วน 2 แสนล้านบาท ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว ส่วนกรณีที่ตัดเรื่องปิดหีบงบประมาณออกไปแล้ว จะบริหารอย่างไรนั้น ทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ดูเรื่องนี้อยู่ คิดว่าด้านรายได้อาจจะไม่ได้ตามเป้า แล้วก็อาจจะต้องดูแลเรื่องรายจ่ายด้วย ก็ต้องมีการบริหารกัน ต้องติดตามว่าระยะต่อไปมีช่องทางไหนบ้างที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้จนสิ้นปีงบประมาณ”