พิษโควิดดันคนไทยกลุ่มเปราะบางพุ่ง 22.1% กสิกรไทยชี้จับตา 4 โจทย์เศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือน
FILE PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินโควิดระลอก 3 กระทบสถานะการเงินคนไทยถดถอย รายได้หด-ค่าใช้จ่ายไม่ลดตาม-มีหนี้เกิน 50% สะท้อนตัวเลขคนกลุ่มเปราะบางพุ่งจาก 10.8% มาอยู่ที่ 22.1% คาดสิ้นปีหนี้ครัวเรือนแตะ 90% หนี้เสีย 3.2-3.5% ระบุคงจีดีพีปี 64 อยู่ที่ 1.8% รอดูความคืบหน้าการฉีดวัคซีน จับตาโจทย์เศรษฐกิจ 4 ด้าน ภาระการคลัง-เงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือน-ต้นทุนธุรกิจ

วันที่ 10 มิถุนายน 2564 นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 พบว่ากดดันสถานะการเงินของคนไทยให้ถดถอยมากขึ้น และจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้หนี้ครัวเรือนจะไต่ระดับแตะ 90% จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 89.3% ซึ่งเป็นโจทย์เศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญ

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล

ทั้งนี้ หากดูจำนวนบัญชีสินเชื่อต่อรายพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากในเดือนมีนาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.1 บัญชี เพิ่มเป็น 2.2 บัญชีในเดือนมิถุนายน โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด ค่าใช้จ่ายไม่ลด และภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาที่ 22.1% เช่นเดียวกับมีภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เฉลี่ยสูงขึ้นจากระดับ 42.8% มาอยู่ที่ 46.9% และหากดูผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มขึ้นจาก 23.2% มาอยู่ที่ 39.1% โดยภายหลังจากโควิด-19 ระลอก 3 ลูกหนี้มีความกังวลสถานะหนี้ของตัวเองแย่ลงถึง 7.8% ในไตรมาส 1

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและน่าจะแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้ และโจทย์ธนาคารจากเรื่องการแก้หนี้ไปเป็นการเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร และคนต้องการสภาพคล่องเพิ่มเป็น 46.6% ส่วนคุณภาพหนี้เรามีมุมมองว่าจะต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในสิ้นปีนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) น่าจะอยู่ที่ 3.2-3.5% ขยับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 3.12% แม้ว่าไตรมาสแรกจะลดลงมาอยู่ที่ 3.10% โดยกลุ่มที่ต้องติดตามยังเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยในส่วนของบ้าน บัตร และส่วนบุคคล”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 1.8% โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อภาคการส่งออกจึงมีการปรับประมาณการเติบโตจากระดับ 7% เป็น 9% อย่างไรก็ดี จากการระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน นอกจากปัจจัยเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการกระจายวัคซีน จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญโจทย์สำคัญ 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจ

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล

 

โดยโจทย์แรก คือ ภาคการคลัง แม้ว่าระยะสั้น การขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและการขยายเพดานหนี้สาธารณะยังไม่น่าจะเป็นประเด็น โดยคงจะเห็นการขยับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเกิน 60% ภายในปี 2565 แต่โจทย์ในระยะกลางและยาว หากมีการระบาดของโควิด-19 และมีการขาดดุลการคลังในระดับสูงอย่างต่อเนื่องภายใน 3-5 ปี อาจจะนำมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่น เนื่องจากภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 หายเป็นปกติ เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอยากเห็นระดับหนี้สาธารณะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

และโจทย์สอง คือ อัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าจะเป็นโจทย์ที่มีทั่วโลกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้มีความต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินได้ปกติจึงเป็นตัวเร่งสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ในฝั่งอุปทานลดลงจากการลดการผลิต อย่างไรก็ดี มองว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และมีบริบทแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งของไทยเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน

โดยสิ่งที่จับตาจะเป็นสหรัฐที่จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะมองว่าจะเริ่มถอยนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อบอนด์ยีลด์ทั่วโลกเร่งตัวขึ้น และเป็นต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในระยะอีก 1 ปีข้างหน้า

“ปัจจัยการเติบโตเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อ คาดว่าน่าจะสามารถบบรรเทาได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ได้หากดูการฉีดวัคซีนที่ทำได้ดีขึ้นวันละ 4 แสนโดส คาดว่าน่าจะทำได้ตามเป้า 100 ล้านโดสเป็นการปูพรมฉีด และปัจจัยมาตรการภาครัฐทั้งคนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขการขยายตัวทั้งปีจะพบว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 1 หดตัว -2.6% และไตรมาสที่ 2 เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 น่าจะขยายตัวได้ 1% และไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวได้ทั้ง QoQ และ YoY และไตรมาส 4 หลังนักท่องเที่ยวกลับมาได้การขยายตัวน่าจะอยู่ที่ 5% โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.8% ตามที่มองไว้”

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าการปรับขึ้นของต้นทุนหรือราคาสินค้าที่มีผลซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจกระทบต่อธุรกิจซื้อมาขายไปในยามไม่ปกติที่โควิดฉุดกำลังซื้อและตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี โดยประเมินเบื้องต้นว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น 1% จะกระทบค้าปลีกกลุ่มเอสเอ็มอีประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเผชิญข้อจำกัดในการผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค โดยสัดส่วนการรับภาระของผู้ขาย 20% และผู้ซื้อ 80%

เกวลิน หวังพิชญสุข

อย่างไรก็ดี จากมาตรการภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาระของผู้ขายเหลือเพียง 10% แต่ทั้งนี้ ยังพบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการภาครัฐได้ ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 23,800 ล้านบาท


“มาตรการรัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจดี ปัญหาหรือผลกระทบนี้ คงมีขนาดที่ลดลง ทั้งนี้ ต้องติดตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังจากนี้ ซึ่งจะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี และหากการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ดี ตัวเลขอาจจะปรับดีขึ้นโดยมองตัวเลขค้าปลีกจะหดตัวอยู่ที่ระดับ -1.8%”