ย้อนรอย 24 ปีค่าเงินบาทจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง”ถึง”วิกฤตโควิด”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 วันครบรอบ 24 ปีการลอยตัวค่าเงินบาท หรือวิกฤตต้มยำกุ้งวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2540 มองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงวิกฤติค่าเงินบาทเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์นำไปสู่การล่มสลายของระบบสถาบันการเงินของประเทศ ซึ่งบริบทแตกต่างจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้เกิดจากวิกฤตทางการเงินหรือสภาพคล่อง แม้ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าเหมือนกันก็ตาม
ทั้งนี้ หากดูตัวเลขเสถียรภาพเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นในปี 2540 จะพบว่าไทยสามารถอยู่ได้เพียงแค่ 5 เดือน เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่สามารถอยู่ได้นานถึง 10 เดือน หรือมากกว่า 1 เท่า สะท้อนสถานะการเงินและเสถียรภาพของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับธนาคารกลางในปัจจุบันมีบทเรียนและการเรียนรู้จากอดีต รวมถึงมีเครื่องมือในการดำเนินนโยบายค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีเครื่องมือที่คล้ายกับ QE เช่นเดียวกัน
ขณะที่ในมุมค่าเงินบาทอาจจะมีความคล้ายกันในเรื่องของผลกระทบจากวิกฤตค่อนข้างรุนแรง กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ไม่ได้มีเข้าประเทศ แต่จะเห็นว่าตอนนี้ภาคการส่งออกของไทยยังคงขยายการเติบโตได้ดี และจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ค่าเงินบาทคงไม่ได้เห็นการอ่อนค่าไปถึงระดับ 35-40 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 อยู่ที่ระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ และต่อมาในปี 2541 หลังลอยตัว ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 56.50 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งที่ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่ามากนักมาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างสูงบวกกับการนำเข้าที่ไม่ได้สูงมาก
“ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ารอบนี้ไม่เหมือนรอบวิกฤตต้มยำกุ้งที่บริบทแตกต่างกัน โดยในปี 40 นั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากภาคการเงิน เกิดวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ การกู้ยืมเงินต่างประเทศเกินตัว และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เยอะ แต่รอบนี้เป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุข หากไทยมีการบริหารจัดการทางด้านวัคซีนที่ดีขึ้น จะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และจะทำให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาได้ ซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในไตรมาสที่ 4 แม้ว่าไตรมาสที่ 3 จะเห็นการอ่อนค่าของเงินบาททะลุ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังอ่อนค่าน้อยกว่าปี 40”