อุตสาหกรรมธนาคารไทย…ในยุคขายลดครึ่งราคา

มีคนพูดกันว่า banking ยังมีความสำคัญในโลกอนาคต แต่ธนาคารอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น หมายความว่าอย่างไร และมีความเป็นไปได้จริงหรือ ถ้าจริงโลกอนาคตเกี่ยวกับธนาคารจะเป็นอย่างไร และมีผลอย่างไรกับผู้บริโภค ธุรกิจธนาคารจะต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอดแบบยังมีความรุ่งเรืองอยู่บ้าง?

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแคปของธุรกิจกลุ่มธนาคารไทย (bank) ที่เคยเป็นเซ็กเตอร์ใหญ่อันดับสองของตลาดหุ้นไทย เคยมีมูลค่าถึง 20% ของมูลค่าตลาดรวม แต่วันนี้พบว่ามูลค่าลดลงเหลือแค่ 8% ซึ่งมูลค่าตลาดของธนาคารหลายแห่งลดลงไปไม่ถึงครึ่งของราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจธนาคาร สัญญาณดังกล่าวเป็นปัจจัยชั่วคราวที่จะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองในที่สุดหรือไม่ ?

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้หยิบยกบทสัมภาษณ์ Macro Talk ระหว่าง ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย Chief Economist, Kiatnakin Phatra Securities กับนายธีระพงษ์ วชิรพงศ์ Head of Equity Research, Kiatnakin Phatra Securities เพื่อมาไขคำตอบให้ฟังดังนี้

เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจธนาคาร

ธุรกิจธนาคารขายลดราคามาตลอดกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นอาการก่อนที่จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องชั่วคราวแน่ ๆ และแนวโน้มดูเหมือนยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไหร่ โดยมูลค่าตลาดของธุรกิจธนาคารสมัยก่อนมีมูลค่าที่ค่อนข้างสูง เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีมาก หรือดีที่สุดในอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ประเทศไทยมีด้วยซ้ำ และทุกคนอยากจะได้แบงกิ้งไลเซนส์

แม้กระทั่งก่อนยุคต้มยำกุ้ง ต่างชาติขอแบงกิ้งไลเซนส์ในประเทศไทย หลังวิกฤตต้มยeกุ้งปี 1997 ก็ยังมีคนสนใจเข้ามาขอไลเซนส์ ซึ่งตอนนั้นมีโอกาสเพราะแบงก์ไทยมีผลกระทบจากวิกฤตการเงิน จนกระทั่งต้องขายหุ้นส่วนให้กับแบงก์ต่างประเทศ ทำให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ในแบงก์ไทยหลายแห่ง

แต่ปัจจุบันนี้ดูเหมือนแบงกิ้งไลเซนส์คนไม่อยากได้ เพราะล่าสุดธนาคารซิตี้แบงก์รายล่าสุดที่อยู่เมืองไทยมานานเกินชั่วอายุคน ได้ประกาศขายธุรกิจธนาคารในไทย ฉะนั้นสะท้อนได้ว่ายุคทองหมดไปแล้ว มี 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ

เศรษฐกิจไทยหนี้สูงไม่เอื้อธนาคารโตได้ดีเหมือนอดีต

1.ภาพรวมเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงกับธนาคาร โดยภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ค่อยสนับสนุน ตั้งแต่การกู้หนี้ยืมสินที่เพิ่มปริมาณเยอะขึ้น ซึ่งวันนี้ปริมาณหนี้ประเทศไทยเทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจ สูงเท่ากับตอนที่เราเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว แต่ยุคนั้นหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของธุรกิจ แต่หนี้ปัจจุบันเป็นหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ธนาคารขยายธุรกิจได้ลำบาก การขยายสินเชื่อ ไปทำไม่ได้ที่ เพราะใกล้จุดสูงสุด

2.หน่วยงานกำกับ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เห็นสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่อยากเห็นการเติบโตของสินเชื่อมากนัก จึงขีดเส้นแคบลง ๆ ไม่อยากให้โต กดดันให้ธุรกิจธนาคารโตน้อยลง

3.เศรษฐกิจไทยมีการลงทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้ความต้องการระดมทุนหรือไฟแนนซ์จากธนาคารพาณิชย์น้อยลง บริษัทไทยไปลงทุนนอกประเทศ บุคคลธรรมดาไทยก็ไปลงทุนนอกประเทศ ขณะที่ตลาดพันธบัตรของเอกชนโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความต้องการสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไปใช้ในการลงทุนลดน้อยลง

และดูเหมือนผลตอบแทนต่อทุนลดลงด้วย จากเลขสองหลักวันนี้ลงมาต่ำกว่า 10% กันหมดแล้ว ซึ่งมาจาก 2 ประเด็นคือ 1.โอกาสทางธุรกิจลดน้อยลงจากภาพรวมเศรษฐกิจข้างต้น 2.ธนาคารยังเข้าใจผิดว่าการเติบโตจะกลับมา นั่งรอสะสมทุนไม่จ่ายออกมา แต่ปรากฏว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจไม่โต ส่งผลทุนที่สะสมไว้เกิน เหมือนกับโรงงานที่มีกำลังการผลิตเยอะ แต่ใช้ได้แค่ 50% ทำให้ผลตอบแทนต่อโรงงานได้แค่ครึ่งเดียว 

อีกสาเหตุคือ 2.สะสมทุนที่มากเกินไป แต่ประเด็นนี้ก็สะท้อนถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย

อนาคตของธุรกิจธนาคารจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ  มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงยุคสมัยมากพอสมควร ถ้าย้อนกลับไปปี 1950 ยุคที่เป็นยุคกำเนิดของเทคโนโลยีในแบงกิ้ง เครื่องแรกของธนาคารทั้งโลกชื่อเครื่อง ERMA(electronic recording machine accounting) สร้างโดย MIT คนที่จ้างให้สร้างคือ Bank of America หลังจากนั้นจะเป็นเรื่อง magnetic reading และถัดมาคือ Core Banking ซึ่งทำให้การพัฒนาบริการ สินค้าทางการเงิน เพิ่มขึ้นมาก มีมาใช้ ATM เพื่อทำธุรกรรมได้ 24 ชั่วโมง

แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเทคโนโลยีแบบกระจายตัว ไม่ใช่เทคโนโลยีแบบรวมศูนย์ เช่น block chain, biometric, artificial intelligence, algorithm ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้จะใช้ทดแทนตัวกลาง ซึ่งเห็นจากเทคโนโลยีปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นมา อาทิ digital platform ยุคหลังมีแคแร็กเตอร์แบบนี้ทั้งนั้น ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้จะมาทำหน้าที่แทนธนาคาร ซึ่งเป็น core ในการทำธุรกรรม banking service ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบธนาคาร  สำคัญคือพฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีแทนการทำธุรกรรมที่สาขา

ธนาคารต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด

สิ่งที่ธนาคารต้องปรับตัวคือ ลืมเรื่อง Legacy ให้หมด ถ้ายังยึดติดสถานภาพเดิม ๆ ก็อาจจะปรับตัวไม่ได้ หรือวิธีการปรับปรุงคุณภาพบริการสินค้าต่าง ๆ ซึ่งธุรกิจวันนี้ต้องมี design thinking คือเริ่มจากศูนย์ คิดว่าลูกค้าต้องการอะไร ต้องการสาขาหรือไม่  และสร้าง banking service กับ banking product เริ่มจากศูนย์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการลูกค้าและผู้บริโภคอย่างเต็มที่