กสิกร ชี้เงินบาทไทยอ่อนค่าลง 8.8% คาดสิ้นปีอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้เงินบาทไทยอ่อนค่าลง 8.8% คาดสิ้นปีอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์ พร้อมปรับจีดีพีปีนี้ เหลือโต 1% ด้านนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย แห่ขายหุ้นทิ้ง 9 หมื่นล้านบาท 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าลงถึง 8.8% เมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และหากเทียบกับ 12 เดือนที่ผ่านมาก็อยู่ในภาวะเช่นนั้นเหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนลงไปมากพอสมควร อย่างไรก็ดี หากผลของมาตรการที่ทำอยู่อย่างการล็อกดาวน์ สามารถชะลอการติดเชื้อได้ ก็จะทำให้บรรยากาศค่าเงินบาทเริ่มดีขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่าช่วงสิ้นปี 2564 ค่าเงินบาทไทยจะฟื้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีกระทั่ง วันที่ 21 ก.ค.64 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้ว 8-9 หมื่นล้านบาท หลังจากที่โควิดกระทบเศรษฐกิจในประเทศไทย จึงทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือ 1% จากคาดการณ์เดิมที่อยู่ระดับ 1.8% ขณะที่การส่งออกไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 11.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ 9%

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า การปรับประมาณการดังกล่าว ส่วนหนึ่งผลมาจากภาพมาตรการยกระดับคุมเข้มการระบาดโควิด-19 พื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา คาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลง เหลือ 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.9% ส่วนหากเกิดกรณีเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธ์มีความรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตเร่งขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ เนื่องจากจะมีผลทำให้การส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะนี้ชะงักงัน 

ส่วนประเด็นที่จะต้องติดตาม คือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ เช่น เดลต้า โดยในสหรัฐอเมริกา เริ่มรายงานการติดเชื้อของเดลต้ามีมากขึ้น แต่ยังไม่ได้สูงสุด แต่สหราชอาณาจักรก็เริ่มกังวล แต่ข้อดีแม้จะมีการติดเชื้อ แต่การเสียชีวิตไม่รุนแรง อย่างไรก็ดี หากสภาพการแพร่ระบาดเป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบระยะยาว โดยช่วงเดือนพ.ค. มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพียง 500 ราย และมีจำนวนการเข้าพักเพียง 5 ห้อง สะท้อนถึงความยากลำบากของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม และภัตาคาร 

รวมทั้งกันนี้ ในเรื่องหนี้ด้วย ซึ่งต้องเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ โดยก็มีการเรียกร้องค่าใช้จ่าย การลดค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งต้องกลับมาใช้นโยบายนี้อีกครั้ง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่ประชาชนไม่มีรายได้