ธปท. ตอบ 15 ข้อสงสัย “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท

ธปท.เปิด 15 ข้อสงสัย-พร้อมคำตอบโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท เผยธุรกิจทั่วไปเข้าโครงการได้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรมเท่านั้น ชี้ แบงก์ชาติไม่เป็นผู้กำหนดราคาตีโอนทรัพย์ เหตุเพื่อสร้างกลไกให้มีความยืดหยุ่น-ยันลูกค้าทุกรายได้สัญญาเป็นมาตรฐาน พร้อมติดตามโครงการใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือ

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบข้อสงสัย 15 ข้อของโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดังนี้ 

1.ใครมีสิทธิ์เข้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” บ้าง

– ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย เป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจและมีทรัพย์สิน เป็นหลักประกันสินเชื่อดังกล่าวตามกฎหมายไทยกับสถาบันการเงินนั้น ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 (สะท้อนว่าธุรกิจยังดีก่อนการระบาดระลอกที่ 1 )

2.ธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมเท่านั้นหรือไม่

– แบงก์ชาติไม่ได้จํากัดประเภทธุรกิจที่จะเข้าร่วม โดยกิจการที่มีทรัพย์เป็นหลักประกัน กับสถาบันการเงินก็สามารถเข้าโครงการได้ หากสถาบันการเงินพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวและจะกลับมาซื้อทรัพย์คืนในช่วง 3 – 5 ปี ตัวอย่างธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ได้แก่ โรงแรม ค้าส่งค้าปลีก โรงงาน โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ เป็นต้น

3.ธุรกิจโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่

-แบงก์ชาติไม่ได้กําหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติสถาบันการเงินอาจมีความกังวลว่าเมื่อตีโอนทรัพย์มาแล้ว หากมีประเด็นเรื่องใบอนุญาตในอนาคต สถาบันการเงินจะมีความเสี่ยงและอาจเกิดปัญหา หากผู้ประกอบธุรกิจไม่มาซื้อคืนทรัพย์

4.ที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกัน สําหรับสินเชื่อธุรกิจสามารถเข้าโครงการได้หรือไม่

-แบงก์ชาติไม่ได้จำกัดประเภททรัพย์สินที่จะนำมาตีโอน เพียงแต่ต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน ของสินเชื่อธุรกิจตามกฎหมายไทยกับสถาบันการเงินนั้นๆ ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564

อย่างไรก็ดี ด้วยโครงการมีเป้าประสงค์หลักให้ลูกหนี้รายเดิมสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นเจ้าของธุรกิจได้ในอนาคต ดังนั้น ผู้ที่ร่วมโครงการต้องมีเจตนาที่จะกลับมาซื้อทรัพย์คืน และตัวทรัพย์ก็จะต้องสามารถคงมูลค่าได้ในช่วง 3-5 ปีที่ตีโอน ตัวอย่างของทรัพย์ ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว เช่น โรงแรม ค้าส่งค้าปลีก โรงงาน โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ เป็นต้น

5.แบงก์ชาติกำหนดให้ต้องประเมินราคาทรัพย์สินอีกครั้ง ก่อนการรับโอนหรือไม่ ใครรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

-แบงก์ชาติไม่ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องประเมินราคาทรัพย์สินหลักประกันที่จะเข้าร่วม โครงการใหม่อีกครั้ง แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจของคู่สัญญา เพื่อช่วยลดภาระต้นทุน ในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากคู่สัญญาตกลงให้มีการประเมินราคาใหม่อีกครั้งก่อนตีโอนชำระหนี้ ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดในสัญญาสินเชื่อเดิม หรือเป็นไปตามที่คู่สัญญาตกลงกัน

6.ทําไมแบงก์ชาติไม่กำหนดราคาตีโอนทรัพย์สิน

-เนื่องจากทรัพย์ที่สามารถเข้าร่วมโครงการนั้น มักมีลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้มูลค่าแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการกําหนดราคารับโอนโดยภาครัฐ เช่น ให้คิดเป็นอัตราส่วน X% ต่อมูลค่าประเมินทรัพย์ อาจไม่เหมาะสม และเป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ ที่อาจทำให้ทรัพย์สินบางประเภทไม่สามารถเข้าโครงการได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงออกแบบกลไกที่มีความยืดหยุ่น โดยให้เป็นไปตามการตกลงกันของคู่สัญญา

-หากทรัพย์ที่ดีโอนชำระหนี้มีมูลค่ามากกว่ายอดหนี้คงค้าง เมื่อครบกําหนดแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถ ซื้อคืนได้ในราคาเดิมที่ไม่สูง (ไม่รวมค่าใช้จ่ายเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามจริง)

หากทรัพย์ที่ตีโอนชำระหนี้มีมูลค่าน้อยกว่ายอดหนี้คงค้าง ทำให้เหลือหนี้คงค้างหลังตีโอน แบงก์ชาติได้กำหนดให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถ ในการชำระหนี้ หรืออาจพิจารณาพักชำระหนี้ตลอดช่วงที่อยู่ในโครงการได้

7.ทําไมรายละเอียดของโครงการเยอะมาก และใช้เวลาในการเจรจาต่อรองนาน

-โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นโครงการใหม่ที่มีรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา ในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน ระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจ และต้องเป็นไปตาม ความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย ภายใต้กรอบสัญญาที่แบงก์ชาติ และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันกําหนดข้อความมาตรฐานในประเด็นสำคัญไว้ให้ ทั้งนี้ ภาครัฐ กำหนดระยะเวลาที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ถึง 9 เม.ย. 66 (หากยังมีวงเงินคงเหลือ)

8.แบงก์ชาติกำหนด “สัญญามาตรฐาน” พักทรัพย์ พักหนี้ หรือไม่

-แบงก์ชาติกำหนด “ข้อความมาตรฐาน” ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ สิทธิในการซื้อทรัพย์สินคืน ของผู้ประกอบธุรกิจ ราคาซื้อคืน และสิทธิในการเช่าทรัพย์สินระหว่างช่วงระยะเวลาภายใต้โครงการ

-สถาบันการเงินต้องนำข้อความมาตรฐานดังกล่าวใส่ในสัญญา และต้องนำส่งร่างสัญญาให้แบงก์ชาติพิจารณาก่อนเข้าร่วมโครงการ

-เมื่อคู่สัญญาลงนามแล้ว สถาบันการเงินต้องส่งสัญญามาให้แบงก์ชาติเพื่อใช้ประกอบ การอนุมัติเข้าโครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับการช่วยเหลือ ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

9.เมื่อตีโอนทรัพย์สินไปแล้ว สถาบันการเงินจะยอมขายคืนให้ภายในระยะเวลาและที่ราคาที่ตกลงไว้จริงหรือไม่

-แบงก์ชาติออกแบบกลไกของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ผ่านการออกกฎหมายเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ภายใต้ระยะเวลาของโครงการ ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์ หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์กำหนด จะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนเท่านั้น โดยสถาบันการเงิน ไม่สามารถนำไปขายให้บุคคลอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ เว้นแต่จะได้รับแจ้งจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์ กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นหนังสือว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิซื้อทรัพย์หลักประกันคืน ทั้งนี้ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุข้างต้น สามารถร้องเรียนที่แบงก์ชาติ โทร. 02-2836112

10.สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อมาซื้อทรัพย์คืนได้หรือไม่

-การกู้เพื่อซื้อทรัพย์คืนขึ้นกับข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น ในภายหลัง ส่วนใหญ่จะขอกู้กับสถาบันการเงินเดิม หรือเลือกที่จะรีไฟแนนซ์ไปที่สถาบันการเงินแห่งอื่น หากได้เงื่อนไขที่ดีกว่า ทั้งนี้ โดยทั่วไปสถาบันการเงินจะพิจารณาให้สินเชื่อตามมูลค่าซื้อคืน ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจต้องการขอสินเชื่อเพิ่ม ก็สามารถเจรจาได้ โดยสถาบันการเงินจะพิจารณา จากกระแสเงินที่คาดว่าจะได้รับคืนจากผู้ประกอบธุรกิจในอนาคต

ปัจจุบัน เริ่มมีสถาบันการเงินบางแห่งทำข้อตกลงเพิ่มเติม Letter of Intent (LOI) เกี่ยวกับเงื่อนไข การขอสินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์คืนกับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อคลายความกังวลให้กับผู้ประกอบธุรกิจ

11.สถาบันการเงินสามารถยกเลิกสิทธิ ในการซื้อคืนของผู้ประกอบธุรกิจได้หรือไม่

-ไม่สามารถยกเลิกได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทำให้ทรัพย์ที่โอนเสียหาย รื้อถอน ย้าย หรือทําให้เสื่อมค่า หรือผู้ประกอบธุรกิจถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เพราะอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถซื้อทรัพย์คืน

12.แบงก์ชาติมีแนวทางป้องกัน การคิดค่าเช่าทรัพย์หลักประกันสูงเกินไป ในช่วงระยะเวลา ที่อยู่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้หรือไม่

-แบงก์ชาติไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราค่าเช่าไว้ เพื่อความยืดหยุ่นในการเจรจา ระหว่างคู่สัญญา แต่แบงก์ชาติกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินนำค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สินได้ชำระให้กับสถาบันการเงินมาหักออกจากราคาซื้อทรัพย์สินคืนด้วย

ทั้งนี้ แบงก์ชาติได้กำชับให้สถาบันการเงินกำหนดอัตราค่าเช่า โดยพิจารณาตามความสามารถในการหารายได้ของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจมากเกินไป

13.เมื่อผู้ประกอบธุรกิจพักทรัพย์ไปแล้ว จะสามารถกู้เงินเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายเสริมสภาพคล่องของกิจการได้หรือไม่

-สามารถทำได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอสินเชื่อฟื้นฟู หรือสินเชื่อปกติโดยสถาบันการเงิน จะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต (เช่น ถ้าผู้ประกอบธุรกิจเช่าทรัพย์ กลับไปดำเนินการต่อ ก็จะมีกระแสเงินสดเข้ามาในอนาคต ทำให้อาจได้รับสินเชื่อหมุนเวียน หรือหากมีทรัพย์สินอื่นเหลือก็จะสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้เช่นกัน) แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราว ก็อาจขอสินเชื่อใหม่ได้ยากขึ้น

14.การเข้าโครงการจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจถูกรายงาน ว่าเป็น NPL หรือรายงานว่ามีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในเครดิตบูโรหรือไม่

-การเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ไม่ใช่เหตุในการรายงานข้อมูลเข้าเครดิตบูโร แต่สถาบันการเงินจะรายงานการทำธุรกรรมพักทรัพย์พักหนี้เข้าเครดิตบูโร หาก ณ วันที่เข้าโครงการ ผู้ประกอบธุรกิจเป็น NPL และยังมีหนี้เหลือหลังการตีโอนทรัพย์ตามโครงการเท่านั้น

หมายเหตุ: เครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลการค้างชำระของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (ลูกหนี้ NPL) และหากเป็นข้อมูลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินจะรายงานเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ NPL

15.หากผ่านไป 5 ปีแล้ว เศรษฐกิจยังไม่ดี ธุรกิจยังประสบปัญหาหนัก แบงก์ชาติจะขยาย ระยะเวลาซื้อคืนทรัพย์ออกไปอีกได้หรือไม่

-แบงก์ชาติจะติดตามและประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตลอดจนข้อมูล การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง หากพบว่ามีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ แบงก์ชาติจะเร่งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ รวมถึงกรณีหากมีความจําเป็น ที่จะต้องขยายระยะเวลาซื้อคืนด้วย โดยหารือร่วมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง และเกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือ ไปยังภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและทันการณ์