CIMBT หนุนลงทุนตลาดอาเซียนมองศักยภาพโตสูง 

CIMBT ชี้ตลาดอาเซียนยังมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงหลังผ่านพ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจ จากการรวมอาเซียนที่จะก้าวไปสู่ RCEP 10 ประเทศอาเซียน รวมกับ 5 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย สะท้อนความแข็งแกร่งในอนาคต ทั้งนี้ CIMBT แนะนำลงทุนในกองทุนเวียดนามที่เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาค

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การรวมของอาเซียนที่จะก้าวไปสู่ RCEP นั่นคือ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับ 5 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจะมีอินเดียตามมาประเทศที่ 6 ซึ่งประเทศสมาชิกที่มากขึ้นจะเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนในภูมิภาคเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิดที่ฉุดเศรษฐกิจแต่ละประเทศชะลอตัว

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจในหลายประเทศ การฉีดวัคซีนในภูมิภาคนี้ล่าช้า รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ส่งผลให้การค้าการลงทุนปีนี้ รวมถึงอุปสงค์ในแต่ละประเทศชะลอตามไปด้วย 

อย่างไรก็ดี การส่งออกของแต่ละประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงราว 15-20% ในปีนี้ และเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องไปถึงปีหน้า สืบเนื่องจากการที่ชาติพันธมิตร 10 ประเทศมีโอกาสที่จะร่วมมือกับชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เรียกว่า RCEP และมีการเจรจาการค้าเสรี FTA กับประเทศนอกกลุ่มเพิ่มเติม และด้วยศักยภาพ  3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโตเร็ว ชนชั้นกลางเพิ่มต่อเนื่องสะท้อนภาพกำลังซื้อที่ดี และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเห็นภาพของอาเซียนยังเป็นศักยภาพที่เติบโตได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.อมรเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการปรับประมาณ GDP ในหลายประเทศติดลบ ในอาเซียนก็ติดลบค่อนข้างรุนแรง โดยล่าสุดทาง IMF ก็ได้ออกมาปรับประมาณการณ์ลงเล็กน้อย สาเหตุเนื่องมาจากการระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อซึ่งกระทบต่อการผลิตและการค้าภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง  จากมุมมองของ IMF  ทำให้คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยังมีอยู่ซึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วรวมถึงมองว่ายังมีทางออกจากภาคการส่งออกที่หลายประเทศยังเติบโตได้ดี แม้ว่าการค้าในประเทศอาจจะได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

นายเกษม พันธ์รัตนมาลา, CFA กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า คนไทย บริษัทไทย มองหาโอกาสลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านตลอดเวลา จากตัวเลข Thailand Direct Investment (TDI) คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 แม้ปีก่อนจะเผชิญโควิดแต่ TDI ยังคงโต และโตต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ส่วนใหญ่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนผลตอบแทนจากการไปลงทุนอาจต้องรอ 3-5 ปี หากธุรกิจเติบโต แข่งขันได้ เงินลงทุนจะกลับเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้น

ขณะที่เงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย Foreign Direct Investment (FDI) กลับน้อยกว่าเงินที่คนไทยนำไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดย FDI ปีก่อน ติดลบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมองย้อนกลับไปก่อนมีโควิด FDI มาไทยไม่ได้สูงมาตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมาถึงตอนนี้

ฝั่งตลาดหุ้นไทย การระบาดของโควิดที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทำสถิติใหม่ไม่หยุด ส่งผลให้ต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยขายไปแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท YTD (year-to-date) และถ้ารวมกับปีก่อน เป็นการเทขายรวม 2.6 แสนล้านบาทแล้ว โดยเฉพาะช่วงหลังนี้ ต่างชาติขายอย่างเดียว แทบไม่ซื้อเลย หากไทยยังควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ได้ ยากที่ต่างชาติจะกลับมาซื้อ

“อย่างไรก็ตามโควิดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ต่างชาติขายและระมัดระวังกับเงินลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพราะกังวลในสัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ mortgage back securities รวมถึงกังวลว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566” นายเกษมกล่าว

ต่างชาติจึงลดสัดส่วนถือครองหุ้นแทบทุกตลาดตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบเพื่อนบ้าน ยังเป็นบวกเล็กน้อยหากเทียบตลาดในภูมิภาค ตลาดที่บวกคือแถบเอเชียเหนือ เช่น ตลาดไต้หวัน YTD ขึ้นไป กว่า 30% ตลาดเกาหลีขึ้นไป เกือบ 20% สาเหตุหลัก คือ ควบคุมโควิดได้ดีกว่า และมีอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลาดจึงดีกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่อนข้างสาหัสกันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสิงคโปร์ ที่ YTD ค่อนข้างดีเกือบ 20%

นายดนัย อรุณกิตติชัย, CFA ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Wealth Advisory by CIMB THAI ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาการลงทุนในดัชนี VNI Index ของเวียดนามให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 16.5% ต่อปี สูงกว่าผลตอบแทนช่วงเวลาเดียวกันของดัชนี S&P500 ที่เป็นหนึ่งในดัชนีที่ให้ตอบแทนสูงและเติบโตเร็วช่วงที่ผ่านมาที่ 15.0% ต่อปี โดยขนาดมูลค่าของตลาดเวียดนาม (Market Capitalization) สะท้อนจากดัชนี VNI Index ก็เติบโตขึ้นกว่า 3.5 เท่าจากมูลค่าโดยประมาณ 84,000 เป็น 210,846 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรต่อหุ้นเติบโตโดยเฉลี่ย 14.8% ซึ่งเป็นอัตราที่อยู่ในเกณฑ์สูง

ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจจะทรงตัวและปรับตัวไม่มากนัก แต่ก็ยังน่าสนใจในแง่ของความหลากหลายของอุตสาหกรรมและความหลากหลายในภูมิภาค โดยบางประเทศเน้นอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจการเงิน บางประเทศเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ จากปัจจัยในตลาดโลก ทั้งการแพร่ระบาด นโยบายการเงินการคลัง และการอัดฉีดสภาพคล่องของภาครัฐ ทำให้ตลาดหุ้นหลายๆ แห่งโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป เริ่มอยู่ในเกณฑ์แพง สะท้อนจาก Forward PE และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนอาจต้องระมัดระวังและหันกลับมามองในฝั่งเอเชีย รวมถึงกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งยังมีระดับการซื้อขายในช่วง 13-18 เท่า และเทียบกับค่าเฉลี่ยของระดับการซื้อในอดีตก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับในภูมิภาคอาเซียนแม้ปัจจุบันเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เช่น ในเวียดนามและในไทย แต่ในระยะยาว อาเซียนยังคงมีจุดเด่นเรื่องความเป็นตลาดสำหรับผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ และเป็นตลาดสำหรับชนชั้นกลาง ที่มีความโดดเด่นด้านการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร ท่องเที่ยว และมีความหลายหลายภายในกลุ่ม รวมถึงการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง อาศัยการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

“การจัดพอร์ตการลงทุนแนะนำให้กระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไทยและอาเซียนด้วยในช่วง 11% ถึง 39% ตามระดับความเสี่ยงจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำสุดไปถึงสูงสุด ซึ่งกองทุนที่ให้ผลตอบแทนโดนเด่นยังเป็นกองทุนที่ลงทุนในเวียดนามที่เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาค โดยกองทุนหลัก ได้แก่ กองทุน Principal VNEQ-A ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่ากองทุนเวียดนามแต่ความเสี่ยงในแง่ของความผันผวนก็น้อยและเนื่องจากกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมและในหลายประเทศ ได้แก่ กองทุน KT-ASEAN” นายดนัยกล่าว