แบงก์ถก “พักหนี้” ยาวถึงสิ้นปี ต่อชีวิต “รายย่อย-SME” 2 ล้านล้านบาท

พักหนี้-ยืดหนี้-sme-รายย่อย

สมาคมธนาคารถก ธปท. ช่วยต่อลมหายใจลูกหนี้ “เอสเอ็มอี-รายย่อย” หลังวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อ จ่อขยาย “พักหนี้” ยาวถึงสิ้นปี สรุปปลาย ส.ค.นี้ “ผยง ศรีวณิช” เผยแบงก์อุ้มลูกหนี้โครงการ “พักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้” รวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ยอมรับเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูง “แบงก์-น็อนแบงก์” ระดมกำลังช่วยลูกหนี้ “กรุงศรี ออโต้” เผยมีลูกหนี้ขอพักชำระหนี้วันละ 1.5 หมื่นราย

ถกพักหนี้ยาวถึงสิ้นปี

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สถาบันการเงินอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม เนื่องจากมองว่าการให้พักชำระหนี้ 2 เดือน ที่ประกาศไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อาจไม่เพียงพอกับผลกระทบโรคระบาดที่คาดว่าจะลากยาว ซึ่งทำให้ลูกหนี้ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีจำนวนมากประสบปัญหาขาดรายได้ โดยเบื้องต้นมีแนวคิดขยายเวลาการพักชำระหนี้ต่อออกไปอีก 4-6 เดือน หรือให้ลูกค้ากลับมาชำระเงินอีกครั้งในต้นปี 2565

“ตอนนี้ไม่ได้ห่วงว่าล็อกดาวน์กี่จังหวัด แต่คิดว่ามาตรการล่าสุดไม่น่าจะพอ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการพูดคุยและข้อเสนอเบื้องต้น จะมีการประชุมหารือเพื่อเคาะมาตรการชัดเจนอีกครั้งน่าจะช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้”

ต่อรอง ธปท. แก้บันทึกรายได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเกณฑ์ของ ธปท. ไม่เอื้อต่อการให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลานาน เพราะการบันทึกบัญชีไม่ได้ให้สถาบันการเงินรับรู้เป็นรายได้ในช่วงที่พักดอกเบี้ย ดังนั้น หากจะพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมากกว่า 2 เดือน จะต้องให้ ธปท.ผ่อนเกณฑ์การรับรู้เป็นรายได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบกับงบดุลของสถาบันการเงิน

“ตอนปีที่แล้วที่มีการให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก ตอนนั้นแบงก์ชาติให้สถาบันการเงินรับรู้รายได้ดอกเบี้ยช่วงที่พักชำระได้ แต่ตอนนี้ไม่ให้บันทึกดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นรายได้ ซึ่งหากจะช่วยผู้ประกอบการที่ยังลำบากก็ต้องปลดล็อกตรงนี้ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีศักยภาพในการช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

แบงก์อุ้มลูกหนี้ 2 ล้านล้าน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ตอนนี้สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับการช่วยเหลือภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้รวม ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 1.89 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 2 ล้านล้านบาท

โดยล่าสุด ธปท.ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ และประคองลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

“ตอนนี้แบงก์แบกหนี้เอ็นพีแอลหนักมากขึ้นถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการโถมของหนี้ที่มีโอกาสเสียสูง เป็น potential NPL cliff โดยที่ ธปท.ช่วยแบงก์เรื่องการจัดชั้นหนี้ไปจนถึงสิ้นปี และตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างปรับให้มีความยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน” นายผยงกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 1/64 มูลค่าอยู่ที่ 537,138 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.12% ของสินเชื่อรวม

กรุงไทยถกช่วยลูกหนี้ต่อ

ขณะที่นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการช่วยเหลือทั่วไป มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ตามแนวทางของ ธปท. และล่าสุดได้ออกมาตรการพักหนี้ 2 เดือนให้กับกลุ่มลูกจ้าง-นายจ้างที่ได้รับผลกระทบต้องปิดกิจการ จากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าทยอยเข้าร่วมมาตรการต่อเนื่อง

“แนวโน้มลูกค้าที่จะขอเข้าโครงการพักหนี้รอบใหม่นี้จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับปี 2563 ธนาคารยังต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ธปท. สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ก็ติดตามผลกระทบของลูกค้าทุกกลุ่ม และพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม หากสถานการณ์ระบาดยังยืดเยื้อ”

SCB อุ้มลูกหนี้ 3.76 แสนล้าน

สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุถึงความช่วยเหลือโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือน นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนวันที่ 19-26 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีลูกค้าสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย (sSME) ที่ขอเข้าโครงการทั้งสิ้นประมาณ 155,000 บัญชี คิดเป็นยอดหนี้ราว 66,070 ล้านบาท

ทั้งนี้จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2564 ระบุว่า ตลอดช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 1.2 ล้านราย จำนวน 8.39 แสนล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 มีลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือทั้งพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ 3.76 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 16% ของสินเชื่อรวม

แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ แต่สินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือของธนาคารลดลงตามลำดับ เนื่องจากลูกค้ารายย่อยจำนวนมากที่พักชำระหนี้ได้ออกจากโครงการโดยไม่ได้ขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม รวมถึงธนาคารมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ

รายย่อย-เอสเอ็มอีแห่พักหนี้

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการเร่งติดต่อลูกค้าเพื่อให้แสดงความจำนงเข้าขอความช่วยเหลือพักชำระหนี้ 2 เดือน อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่ามีลูกค้าที่มีสิทธิตามมาตรการดังกล่าวจำนวนกว่า 18,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 237,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมในหลายประเภทธุรกิจ

ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับตัวเลขการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563-1 สิงหาคม 2564 มีลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้าโปรแกรมช่วยเหลือทั้งสิ้นจำนวน 122,686 บัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้าง 6.05 พันล้านบาท ขณะที่มาตรการล่าสุดพักชำระหนี้ 2 เดือนอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูล

ด้าน บมจ.บัตรกรุงไทยหรือเคทีซี ระบุว่า มีลูกค้าที่ขอเข้ามาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน โดยรวมทุกผลิตภัณฑ์ของเคทีซี ทั้งในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเคทีซีพี่เบิ้ม ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีจำนวน 4,130 ราย ทั้งนี้ หากดูลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือนับตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน คงค้างรวม 21,564 บัญชี ยอดหนี้คงค้างชำระ 1,545 ล้านบาท

พักหนี้ 1.5 หมื่นราย/วัน

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับกรุงศรี ออโต้ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรกมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นกว่า 710,000 ราย และมาตรการล่าสุดพักชำระหนี้ 2 เดือน พบว่า มีลูกค้าติดต่อขอความช่วยเหลือเฉลี่ยวันละ 10,000-15,000 ราย

“แนวโน้มจำนวนลูกค้าที่ขอเข้ารับมาตรการช่วยเหลือในแต่ละช่วงเวลาขึ้นอยู่กับระดับการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของทางการ โดยธนาคารพร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเป็นรายกรณี”

แบงก์รัฐนำร่องพักหนี้ถึงสิ้นปี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย และเสียประวัติในอนาคต ธนาคารสามารถช่วยลดภาระลูกค้าไปแล้วกว่า 3 ล้านคน ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อาทิ 1.มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ร้านอาหารและโรงแรม 2.มหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา 3.มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 730,000 ราย และ

4.มาตรการล่าสุดให้ลูกค้ารายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท สามารถพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้สูงสุด 6 เดือน มีลูกค้าเข้าร่วมกว่า 750,000 ราย

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้ออกมาตรการพักหนี้ รวมทั้งโครงการแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระ ซึ่งล่าสุดมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการรวม 202,400 บัญชี คิดเป็นเงินต้นคงเหลือกว่า 211,970 ล้านบาท มาตรการดังกล่าวจะได้รับความช่วยเหลือไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค.นี้ ธนาคารจะสำรวจความประสงค์ของลูกค้าอีกครั้งว่า ต้องการรับความช่วยเหลือต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.หรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามความสมัครใจของลูกค้า