ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน กระทบใครบ้าง

บัญชีเงินฝากแบงก์

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะเข้าสู่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมาลงอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ซึ่งการปรับลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ 2 เรื่องหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และการคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 และปรับลดวงเงินคุ้มครองแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากนั้น จะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินของไทยภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง โดยคุ้มครองบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน โดยผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ดังนั้น ผู้ฝากเงินรายย่อยไม่ต้องตกใจ เนื่องจากการคุ้มครองวงเงินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ หรือโดนเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหากดูสถานะของสถาบันการเงินในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2540

ขณะเดียวกัน ผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับความคุ้มครองโดยอัติโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งผู้ฝากเงินไม่ต้องดำเนินการใดๆ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ของผู้ฝากแต่ละรายในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน

จากประเด็นลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าว “นายนริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบภายหลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินนั้น มองว่า ผลกระทบคงไม่มาก คงไม่ได้เห็นการไหลออกของเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน

และหากดูการปรับลดวงเงินคุ้มครองทยอยปรับลดลงมาเรื่อยๆ จากเดิมที่คุ้มครองทุกบาท สะท้อนว่าภาคประชาชนยังคงเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และการลดวงเงินลงยิ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงิน ทั้งในเรื่องของเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง สภาพคล่อง และความเชื่อมั่นแม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

นายนริศ กล่าวเพิ่มว่า แม้ว่าเงินฝากจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท แต่หากดูตัวเลขเงินฝากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับการคุ้มครองในแง่จำนวนบัญชีครอบคลุมถึง 98.3% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด จากปัจจุบันมีอยู่ 109 ล้านบัญชี และครอบคลุมในแง่เม็ดเงิน 21% จากยอดเงินฝากรวมที่มีอยู่ 15.2 ล้านล้านบาท

โดยในจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาท ประมาณ 80% หรือคิดเป็นวงเงินฝากอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท และจำนวนบัญชีอยู่ที่ 1.7 ล้านบัญชี ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 จนถึงปัจจุบันราว 1 ปี จะเห็นว่าเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทยังมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยมีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 6.7 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินฝากที่มีต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่เห็นการเติบโต

ทั้งนี้ หากแบ่งจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ 15.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝากบุคคลธรรมดา 8.4 ล้านล้านบาท และภาคธุรกิจ (นิติบุคคล) มีอยู่ 4.8 ล้านล้านบาท หากพิจารณาเงินฝากนิติบุคคลที่มีวงเงินเกิน 1 ล้านบาท ในแง่เม็ดเงินจะสูงถึง 96% ของวงเงินฝาก และบุคคลธรรมดาที่มีวงเงินเกิน 1 ล้านบาท จะมีสัดส่วนน้อยกว่าประมาณ 65% และในแง่จำนวนบัญชีอยู่ที่ประมาณ 1.4%

“การลดวงเงินทยอยลดลงมาหลายรอบ ซึ่งรอบนี้มองว่าคงไม่ได้เห็นเงินไหลออกจากแบงก์มากนัก หากจะออกจะเป็นการย้ายที่พักเงินในกลุ่มเงินฝากภาคธุรกิจมากกว่า เพราะปัจจุบันได้รับดอกเบี้ยต่ำกว่ารายย่อย เนื่องจากเป็นเงินฝากที่วงเงินค่อนข้างสูง ขณะที่รายย่อยเทียบความเสี่ยงที่ไปลงทุนที่อื่นน่าจะมีความเสี่ยงมากกว่า และผลตอบแทนในพันธบัตรตอนนี้ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจจะสู้ผลตอบแทนจากธนาคารไม่ได้ จึงมองว่าเงินคงไม่ไหลออกมาก”