SME วิกฤตสภาพคล่อง ธุรกิจใหญ่เร่งตุนเงินสด

ล็อกดาวน์ยืดเยื้อธุรกิจผวาสภาพคล่องหด แบงก์ชาติเผยผลสำรวจธุรกิจกังวล 3 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องตึงหนัก “ท่องเที่ยว-ก่อสร้าง” หนักสุด “ttb” เผยธุรกิจแห่ตุนเงินสด-สภาพคล่อง ดันเงินฝากพุ่ง “KKP” เจอปรากฏการณ์บริษัทใหญ่รายได้ลด-กำไรพุ่ง ตัดลดค่าใช้จ่าย สมาคมตราสารหนี้ฯเผย 7 เดือนแรก ธุรกิจแห่ระดมทุนออกหุ้นกู้โต 52% ตัวเลข 5 บจ.ขาดสภาพคล่องขอยืดหนี้หุ้นกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 ประจำเดือน ก.ค. 2564 พบว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ

โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อนแต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลงโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้าง สะท้อนจากสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจที่ปรับแย่ลง

ตุนสภาพคล่องดันเงินฝากพุ่ง

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเอสเอ็มอี สภาพคล่องก็คงไม่ดี

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สายป่านยาวก็จะเก็บสภาพคล่องถือเงินสดกัน เป็นลักษณะ K shape โดยสะท้อนจากยอดเงินฝากของภาคธุรกิจช่วงครึ่งปีแรกภาพรวมเงินฝากธุรกิจโตขึ้น 1.9% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในบัญชีออมทรัพย์กับกระแสรายวัน ที่ถอนได้ง่ายกว่าเงินฝากประจำ

“โดยเฉพาะบัญชีที่มีเงินฝาก 1 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีอยู่ราว 2.3 แสนบัญชี แต่มีเงินฝากถึง 4.6 ล้านล้านบาท ช่วงครึ่งปีแรกโตขึ้นถึง 3.5% ขณะที่บัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท รวมกันกว่า 2.1 ล้านบัญชี แต่มีเงินฝากรวมกันแค่ 1.4 แสนล้านบาท โตน้อยกว่า ซึ่งเอสเอ็มอีจำนวนมากน่าจะอยู่ในกลุ่มเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท สะท้อนว่าธุรกิจพยายามรักษาสภาพคล่องกันไม่ลงทุน ถ้ายืดเทอมชำระหนี้ได้ก็ยืด จ่ายให้ช้าหน่อย เก็บเงินสดไว้” นายนริศกล่าว

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังที่มีมาตรการล็อกดาวน์ หากพิจารณาจากปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์แล้วเงินฝากธุรกิจพุ่งขึ้น แนวโน้มครึ่งปีหลังธุรกิจก็น่าจะยิ่งเก็บสภาพคล่องกัน ซึ่งการที่ธุรกิจมีการออกหุ้นกู้ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ก็เพื่อชำระหนี้ที่ครบดีล และบางส่วนก็ตุนสภาพคล่องและเงินสดไว้

กระแสเงินสดธุรกิจถูกดิสรัปต์

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีที่แล้วมาตรการปิดเมืองกินเวลาแค่ 6 สัปดาห์

รอบนี้น่าจะปิดอย่างน้อย 3 เดือน หรือไตรมาส 3 ทั้งไตรมาส แต่ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังต่ำ แม้ว่าบางช่วงจะสามารถผ่อนคลายมาตรการได้ แต่สุดท้ายก็อาจจะทำให้ผ่อนคลายเต็มที่ไม่ได้ หรืออาจต้องเปิด ๆ ปิด ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ กระแสเงินสดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถูกดิสรัปต์อย่างมาก ทำให้ไม่มีเงินหมุนในระบบ หรือหมุนช้าลง สภาพคล่องก็จะค่อย ๆ ตึงตัว

“พอเงินไม่หมุน ลองนึกภาพ ร้านอาหารข้างที่ทำงาน ก็ไม่มีเงินเข้าไปหมุนกิจการ ดังนั้น สภาพคล่องก็มีปัญหา เพราะรายได้หด ก็ต้องมาดูแล้วว่า กิจการจะไปต่อไหวไหม เพราะกระแสเงินสดที่เคยเป็นบวกก็เริ่มติดลบ ลองคิดดูว่าถ้าบริษัทหนึ่งตัดสินใจหยุดกิจการก็จะกระทบการจ้างงาน กระทบทั้งซัพพลายเชน และที่สำคัญจะกระทบความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ การจ่ายค่าเช่า ลามกันไปหมด” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ตัดรายจ่ายทุบซัพพลายเชน

ดร.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกงด ย่อมส่งผลกระทบสภาพคล่องของหลายธุรกิจตึงแน่นอน ยกตัวอย่าง สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์แล้วจะหาเงินที่ไหนไปจ่ายพนักงาน กระแสเงินสดบริษัทตึงแน่นอนก็จะต้องตัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และจะกระทบไปถึงซัพพลายเช่น เช่น ผู้ที่ส่งอาหารให้สายการบิน เป็นต้น โดยเจอปัญหาเรื่องสภาพคล่องในลักษณะนี้กันทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลน่าสนใจว่าธุรกิจรายใหญ่อาจไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่มีการปรับลดรายจ่าย ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงซัพพลายเชน โดยข้อมูลของ KKP Research พบว่า บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วประเทศรายได้หดตัว แต่มีกำไรเพิ่มขึ้น

เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ตัดค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมกันหมด ซึ่งผลกระทบจะไปตกอยู่กับซัพพลายเชน ยกตัวอย่าง ปกติบริษัทจะจัดอีเวนต์ให้ลูกค้าทุกปี มูลค่าจัดงาน 10 ล้านบาท ก็เปลี่ยนมาจัดผ่านออนไลน์ ต้นทุนเหลือแค่ 1 แสนบาท

“บริษัทใหญ่กำไรเพิ่ม แต่คำถามคือ แล้วโรงแรมที่เคยมีรายได้จากกิจกรรมของบริษัทจะทำอย่างไร คือบริษัทใหญ่ที่มีกำลังในการใช้จ่าย ตัดค่าใช้จ่ายกันหมด ก็จะมีคนได้รับผลกระทบ คนเล็ก ๆ ที่อยู่ปลายทางก็ได้รับผลกระทบกันหมด” ดร.พิพัฒน์กล่าว

“ปัจจุบันถ้าเป็นธุรกิจรายใหญ่ต้องการสภาพคล่อง แบงก์แทบจะประเคนเงินกู้ให้เลย หรือระดมจากหุ้นกู้ก็ได้ เพราะสภาพคล่องในระบบแบงก์เหลือมาก ไม่ได้มีปัญหาแต่ปัญหาสภาพคล่องกำลังเกิดกับธุรกิจที่ไม่มีเครดิตอย่างเอสเอ็มอี หรือธุรกิจที่คนเชื่อว่าจะไปไม่รอด จะเข้าถึงสภาพคล่องยาก ดังนั้นต้องดูว่าจะจูงใจยังไงให้แบงก์ปล่อยสภาพคล่องกับกลุ่มเหล่านี้” ดร.พิพัฒน์กล่าว

แนะ 5 นโยบายการเงินอุ้มธุรกิจ

ทั้งนี้ KKP Research มองว่า นโยบายการเงินควรต้องมีบทบาททำ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องช่วยลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันของธุรกิจ 2.ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าสภาพคล่องมีอยู่เพียงพอ เพื่อช่วยแก้ปัญหากระแสเงินสดหยุดชะงัก 3.แบ่งเบาภาระหนี้ เพราะหากธุรกิจไม่มีรายได้เข้ามา แต่หนี้ยังมีอยู่ จะเป็นต้นทุนคงที่ที่สูงมาก โดยรัฐบาลอาจจะเข้ามาช่วยอุดหนุนแบ่งเบาภาระส่วนนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แบงก์

4.กระแสเงินสดใหม่ หรือเงินกู้ที่จะใส่เข้าไปในลักษณะบริดจ์โลน เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากไปก่อนในช่วงระยะสั้น 6 เดือน หรือ 1 ปี และ 5.กฎเกณฑ์กฎระเบียบของมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจมีความเข้มงวดเกินไป และไม่สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน หรือผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมโครงการได้ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขให้นโยบายใช้ได้ผลเต็มที่มากขึ้น

แบงก์แห่ออกตราสารเสริมทุน

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อมูล ธปท.ที่สะท้อนออกมา

เนื่องจาก ธปท.คงเห็นข้อมูลครบ ทั้งฝั่งธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจที่แท้จริง รวมไปถึงระดับธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย อย่างกรณีแบงก์ที่แม้ระดับฐานะเงินกองทุนจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) มากกว่า 20% แต่เริ่มเห็นสัญญาณมีการออกตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (tier 1) ในต่างประเทศกันมากขึ้น

“แบงก์คงเตรียมการสำรองเงินกองทุนเอาไว้เพื่อความระมัดระวังในภาวะหนี้เสีย (NPLs) ที่ตอนนี้แม้จะยังควบคุมได้จากมาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติ แต่ในอนาคตเอ็นพีแอลคงมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกันใช้รองรับการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย เพราะช่วงนี้ต้นทุนดอกเบี้ยไม่สูง” นางสาวอริยากล่าว

7 เดือนเอกชนออกหุ้นกู้โต 52%

ขณะที่ในส่วนภาคธุรกิจเรียลเซ็กเตอร์ นางสาวอริยากล่าวว่า เบื้องต้นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาว ไม่ค่อยประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 ยกเว้นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งประเมินจากการระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนยังตอบรับเป็นอย่างดี

แต่หากสถานการณ์โควิดลากยาวไปเรื่อย ๆ จนมีผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (rating) ของบริษัทปรับตัวลดลง อาจทำให้การออกหุ้นกู้ยากขึ้น และส่งผลต่อทางเลือกระดมทุนจะน้อยลงได้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะลามขึ้นไปกระทบถึงบริษัทขนาดใหญ่ได้ แต่หากสถานการณ์โควิดไม่แย่ลงก็น่าจะพอประคองตัวไปได้จากมาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือ

นางสาวอริยากล่าวว่า การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 64) มีการระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่ 604,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดย 5 อันดับธุรกิจที่ออกสูงสุด คือ พาณิชย์, อสังหาริมทรัพย์, อาหาร, สถาบันการเงิน, ไอซีที โดยเดือน มิ.ย.มียอดออกหุ้นกู้สูงสุดของปีนี้ ด้วยมูลค่ากว่า 1.33 แสนล้านบาท

“สภาพคล่องล้นระบบ เงินฝากที่มีมากกว่า 16 ล้านล้านบาท เวลาออกหุ้นกู้ถ้าเป็นบริษัทเครดิตดี นักลงทุนไม่กังวลพร้อมจะซื้อ ดังนั้นสิ้นปีนี้คาดหวังยอดออกหุ้นกู้ไว้ 8.5-9 แสนล้านบาทเหมือนเดิม หากสถานการณ์โควิดไม่เลวร้ายไปกว่านี้ แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน มีการล็อกดาวน์ ห้ามออกจากบ้าน คงมีผลกระทบต่อบรรยากาศได้” นางสาวอริยากล่าว

บริษัทยืดหนี้หุ้นกู้ 5.8 พันล้าน

นางสาวอริยากล่าวถึงสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ ในลักษณะการขอยืดไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ พบว่ามีทั้งหมด 5 บริษัท มูลค่ารวม 5.8 พันล้านบาท โดย 3 รายเป็นผู้ออกหุ้นกู้รายเดิมที่ยืดหนี้หุ้นกู้ไปเมื่อปีที่แล้ว และรายใหม่อีก 2 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.จีแคปปิตอล (GCAP) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 64 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ GCAP218A ของบริษัทมีมติให้ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 1 ปี จากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมวันที่ 2 ส.ค. 64 เป็นวันที่ 2 ส.ค. 65

พร้อมปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้จาก 7% ต่อปี เป็น 7.50% ต่อปี โดยจะทยอยคืนชำระเงินต้นหุ้นกู้บางส่วน 30% และทยอยชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ทุกวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ยในอัตรา 10% และเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 บมจ.ช ทวี (CHO) แจ้งว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้อนุมัติขยายเวลาครบกำหนดหุ้นกู้ออกไปอีก 1 ปี 9 เดือน จากที่ครบกำหนดวันที่ 22 ก.พ. 64 เป็นวันที่ 22 พ.ย. 65 โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้จากเดิม 6.75% ต่อปี เป็น 7.5% ต่อปี

รร.เหลือเงินสดไม่ถึง 3 เดือน

ขณะที่นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า ผลจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้โรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการโรงแรม 272 แห่ง (ในกรุงเทพฯ)

พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโรงแรมในเดือนกรกฎาคม ลดลงอีกเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 นอกจากนี้ พบว่า 58% มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน และประเมินตัวเองว่ามีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 3 เดือน ที่สำคัญมีผู้ประกอบการสัดส่วน 23% มีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจต่อได้อีกไม่เกิน 1 เดือนนับจากนี้