ใช้ Big Data พาเด็กยากจนกลับโรงเรียน (1)

นักเรียน
Madaree TOHLALA / AFP
เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

 

ผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและขยายวงไปในหลาย ๆ ภาคส่วนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สะท้อนได้จากการที่หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของประเทศทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงกันถ้วนหน้า บางหน่วยงานถึงขั้นทำนายว่าเศรษฐกิจจะติดลบ บางหน่วยงานคาดว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงถดถอย บริบทดังกล่าวยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจลดลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โอกาสในการหารายได้เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อยลงไปจนถึงคนจน

จริงอยู่ที่โครงการหลายอย่างของรัฐบาลที่ทยอยออกมาในช่วง 1-2 ปีนี้ มุ่งเยียวยาและบรรเทาภาระค่าครองชีพเป็นสำคัญ เช่น โครงการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการ ม33เรารักกัน โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมถึงมาตรการทางการเงิน เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดหนี้ พักหนี้ ยืดหนี้ เป็นต้น

เพื่อรักษากำลังซื้อและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร กลุ่มคนเปราะบาง และกลุ่มอาชีพอิสระ ไปจนถึงการต่อลมหายใจให้แก่ร้านค้ารายเล็กรายน้อย เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีกระสุนไว้ต่อสู้กับการทรุดตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจที่เขาทำอยู่ เม็ดเงินเกือบทั้งหมดมาจากเงินกู้ภายใต้พระราชบัญญัติกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งอนุมัติไปหมดแล้ว และยังมีพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งเริ่มมีการอนุมัติโครงการช่วยเหลือนักเรียน นิสิต/นักศึกษาไปบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญมาก และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยตรงมากเท่ากับกลุ่มคนที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นั่นก็คือ “กลุ่มเด็กยากจน” ซึ่งคนกลุ่มนี้คือลูกหลานของผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเชิงรายได้ เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองตกงาน หรือไม่มีงานทำ หรือรายได้ลดลง หรือต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ทำให้ลูกของเขาเหล่านั้น ขาดโอกาสที่จะได้เรียนต่อในเทอมการศึกษาที่จะถึง เพราะพ่อแม่ไม่มีรายได้มากพอที่จะส่งลูกเรียน หรือไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การศึกษาในยุคที่ต้องเรียนออนไลน์ เป็นต้น มีการประมาณการกันว่า ผลจากโควิด-19 ทำให้มีเด็กนักเรียนต้องหลุดจากระบบการศึกษาราว ๆ 15-20% หรือประมาณ 3 แสนคน

ก่อนจะไปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มาดูข้อมูลพื้นฐานกันก่อน หลัก ๆ ผมเอามาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนโดยเฉพาะ โครงสร้างของเด็กนักเรียนในปัจจุบันพบว่า จำนวนนักเรียนอายุ 3-14 ปี มีประมาณ 9 ล้านคน เป็นนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับประมาณ 7 ล้านคน

ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนประมาณ 8.4 แสนคน ครัวเรือนของเด็กกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,200 บาทต่อเดือนเท่านั้น ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่ล่าสุดอยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 2.3 เท่า ถ้าครัวเรือนไหนยากจนเป็นพิเศษจะต่ำกว่าเส้นความยากจนเกือบ 3 เท่า