กสิกรไทย ชี้ 4 ปัจจัยกดดดันค่าเงินบาท จับตาบริษัทลูกในไทยขนเงินกลับต่างประเทศ 

เงินบาท

ธนาคารกสิกรไทย ปรับกรอบเงินบาทอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ จาก 32.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตา 4 ปัจจัยกดดันบาทอ่อนค่า หลังดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หั่นนักท่องเที่ยวเหลือ 2 แสนรายกระทบรายได้ขาเข้า ด้านต้นทุนค่าขนส่งส่งสัญญาณปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า เกาะติดบริษัทลูกในไทยขนเงินกลับต่างประเทศ หลังเม.ย.-พ.ค.ไหลออกแล้ว 7.8 หมื่นล้านบาท ชี้ ล็อกดาวน์ 29 จังหวัดฉุดการบริโภคหกระทบจีดีพีเหลือ -0.5% 

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยให้กรอบประมาณการอยู่ที่ 32.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยปัจจัยกดดันค่าเงินบาทจะมีอยู่ 3-4 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากเดิมคาดจะอยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี-เดือนมิถุนายนขาดดุลแล้ว 8,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลเป็นผลมาจากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมคาดว่าจะเข้ามาได้ประมาณ 2.5-6.5 แสนราย ลดลงเหลือเพียง 2 แสนราย ซึ่งกดดันดุลบริการมากขึ้น สะท้อนจากในไตรมาสที่ 1 รายได้ดุลบริการอยู่ที่ 977 ล้านดอลลาร์ ลดลงค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนปัจจัย 2.ค่าใช้จ่ายจากการขนส่งที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวและยังไม่ฟื้นตัวนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางด้านขนส่งปรับเพิ่มขึ้น โดยจากดัชนีค่าขนส่งทั่วโลกจะพบว่าก่อนโควิด-19 ค่าใช้จ่ายค่าขนส่งจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันพบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงถึง 6,000-7,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามนอกจากกดันค่าเงินบาทยังเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 6-7%

และ 3.การจ่ายเงินปันผลของบริษัทลูกในไทยกลับต่างประเทศ โดยเริ่มเห็นสัญญาณความเป็นไปได้ของบริษัทแม่ในต่างประเทศที่เริ่มขาดสภาพคล่อง และให้บริษัทลูกในไทยโอนเงินไปให้ในรูปเงินปันผล เพื่อไปเสริมสภาพคล่อง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยจำนวนมาก โดยตัวเลขในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นฤดูกาลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จ่ายเงินปันผล ซึ่งมีบางบริษัทที่ไม่ได้ถูกรวมเข้าไป จากข้อมูลตัวเลขในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ราว 7.8 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่ 4.ความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าธนาคารจะมองว่าโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับลดลงมีเพียง 40% เท่านั้น เนื่องจากการขยายระยะเวลาลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อยู่ที่ 0.23% จาก 0.46% ไปอีก 1 ปี สะท้อนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต้องการลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากปัญหาไม่ได้อยู่ที่สภาพคล่องหรือปริมาณเงิน แต่เป็นการกระจายสภาพคล่องไปยังภาคเศรษฐกิจจริง 

“ในช่วงที่ผ่านมาทางการพยายามแตะเบรกไม่ให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทมีความหวือหวามากนัก เนื่องจากไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากนัก แม้ว่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวหวือหวาจะทำให้การล็อกราคาทำได้ยาก และยังมีประเด็นที่เราต้องติดตามต่อที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี” 

นายกอบสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยจากเดิมมองว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 1% ปรับลงมาหดตัว -0.5% แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ค่อนข้างสูง แต่จะเห็นวัฎจักรการเติบโตในอัตราสูงได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้การเติบโตจะชะลอตัวลง เพราะเป็นการอันมาจากปีก่อน รวมถึงยังต้องติดตามการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ซึ่งเป็นงหวัดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 78% มีผลต่อการบริโภคและจะเป็นตัวถ่วงของเศรษฐกิจต่อไป