ทิศทางค่าเงินบาท เมื่อเฟดจะลดขนาดคิวอี

เงินบาท-หุ้นไทย
คอลัมน์ นั่งคุยกับห้องค้า ประชาชาติธุรกิจ
พีรพรรณ สุวรรณรัตน์
กฤติกา บุญสร้าง
ธนาคารกสิกรไทย

 

สัญญาณการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลับมาอีกครั้ง เมื่อจำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนละ 9 แสนคน

ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเริ่มยาวนานกว่าที่เฟดเคยคิด และสมาชิกเฟดหลายท่านๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิ์ลงมตินโยบายการเงินในปีนี้ ที่สนับสนุนให้ลดขนาดคิวอีในปีนี้มีจำนวนมากขึ้น จนกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ทำให้ตลาดติดตามความเห็นของเจอโรม โพเวล ประธานเฟด ที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของโพเวล ในงานสัมมนาประจำปีที่แจ็คสัน โฮล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา กลับทำให้ตลาดผิดหวัง เมื่อโพเวลไม่ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและขั้นตอนการลดคิวอีที่ชัดเจน และยังกล่าวว่าการขึ้นดอกเบี้ยยังคงห่างไกลและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลดคิวอี พร้อมทั้งแสดงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เป็นความเสี่ยงในระยะสั้น

แม้โพเวลจะประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดการณ์ จนจีดีพีสหรัฐฯ พุ่งเหนือระดับก่อนเกิดวิกฤตแล้วก็ตาม ท่าทีดังกล่าวทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงถึง 1.24% จากระดับสูงสุดช่วงกลางเดือนสิงหาคม และทำให้เงินสกุลอื่นๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค อีกส่วนหนึ่งจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของไทยที่ลดลงและแนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

ในช่วงที่เหลือของปี เราประเมินว่า ค่าเงินบาทจะยังคงรับอิทธิพลของเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูง สัญญาณการลดขนาดคิวอีที่ไม่ชัดเจนจากโพเวลกดดันความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่าในระยะนี้

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ชะลอลง และสัญญาณการผ่อนคลายการปิดเมืองของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์จะกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากเฟดประกาศแผนการลดคิวอีอย่างชัดเจน

ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า เฟดประกาศแผนการลดมาตรการคิวอีในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเริ่มต้นลดขนาดคิวอีในเดือนธันวาคม เนื่องจากตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเฉลี่ย 3 เดือนถึงกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงที่ 831,000 ตำแหน่งต่อเดือน จึงมีแนวโน้มทำให้เฟดบรรลุเป้าหมายอัตราว่างงานลดลงมาที่ 4.5% ณ สิ้นปีนี้

สอดคล้องกับสมาชิกเฟดหลายท่านยังคงต้องการติดตามพัฒนาการตลาดแรงงานอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ในระยะสั้น ยังมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในระยะยาว ประเมินว่า การลดขนาดคิวอีจะมีอิทธิพลต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพียงชั่วคราว กรณีศึกษาจากการลดขนาดคิวอีของเฟดช่วงปี 2013-2014 (Taper tantrum) บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินผันผวนสูงเมื่อนโยบายการเงินของเฟดยังไม่ชัดเจน ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนไหวต่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเห็นของสมาชิกเฟดเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อเฟดเริ่มต้นการลดขนาดคิวอีในช่วงต้นปี 2014 และชี้แจงขั้นตอนและระยะเวลาการลดคิวอีที่แน่นอน เงินดอลลาร์กลับมาเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ เราจึงมองว่า ในปีนี้ เมื่อเฟดประกาศจุดเริ่มต้นและกรอบเวลาการยุติมาตรการคิวอีที่ชัดเจน ตลาดการเงินจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะสมดุลเช่นกัน

สภาพคล่องในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงจะยังกดดันความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์ด้วย วิกฤตโควิด-19 ทำให้เฟดใช้มาตรการคิวอีวงเงินมหาศาลตั้งแต่มีนาคม 2020 จนทำให้ปริมาณเงินในระบบพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากสินทรัพย์ของเฟดที่เพิ่มขึ้นจาก 4.16 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงก่อนวิกฤต มาอยู่ที่ 8.33 ล้านล้านดอลลาร์ ณ 25 สิงหาคม 2021 (รูปที่ 1) อีกทั้งการลดขนาดคิวอีเป็นเพียงการลดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่ไม่ได้ดูดสภาพคล่องออกจากระบบ

ดังนั้น ในช่วงที่เฟดยังไม่ได้ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดงบดุล เราประเมินว่า จะยังคงมีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเอเชียเพื่อแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 และทำให้เงินสกุลเอเชียและเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป