ธุรกิจบริหาร/ติดตามหนี้กร่อย เอ็นพีแอลถูกแช่แข็ง-แบงก์ชะลอตัดขาย

พักหนี้-กู้เงิน

ธุรกิจ “บริหารหนี้-ติดตามหนี้” ธุรกรรมฮวบ เหตุแบงก์ชะลอขายหนี้จากผลของมาตรการ ธปท.ผ่อนปรนจัดชั้นหนี้ช่วยกดเอ็นพีแอลไว้ไม่ให้พุ่ง หนุนแบงก์อุ้มลูกหนี้ในช่วงวิกฤต “BAM” เผย 7 เดือนแรกเพิ่งรับซื้อเอ็นพีแอลได้แค่ 2 พันล้านบาท ระบุส่วนหนึ่งแบงก์ชะลอขายหากไม่ได้ราคาที่ดีด้วย ขณะที่ “CHAYO” แจงงานทวงหนี้ก็ลดลง ทั้งหนี้บ้าน-หนี้ส่วนบุคคล จากมาตรการพักชำระ ฟาก “JMT” คาดรับซื้อหนี้ได้ตามเป้าแม้ภาพรวมธุรกรรมชะลอ

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 6-7 เดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งจะรับซื้อหนี้มาบริหารได้เพียง 1,000-2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีตั้งไว้ที่ 9,000 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมาจากแนวทางการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ให้สถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“การขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบสถาบันการเงินชะลอตัวลง เพราะหนี้บางส่วนยังไม่ถูกจัดชั้นหนี้ โดยยังคงสถานะลูกค้าปกติภายใต้ผลกระทบของโควิด-19 โดย ธปท.ก็ช่วยแบงก์ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการช่วยเหลือลูกหนี้ จึงไม่ให้บันทึกเป็นหนี้เสียเพราะต้องการให้ช่วยประคองกันไปก่อน ทำให้เอ็นพีแอลไม่ได้ถูกขายออกมาตามจังหวะปกติ รวมถึงหากราคาไม่ได้ตามที่ต้องการ ธนาคารก็จะชะลอการขายเช่นกัน ซึ่งเราเองก็บริหารของเก่าที่มีอยู่ไป เพราะถ้าซื้อมากเงินก็จะจมเช่นกัน” นายบัณฑิตกล่าว

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า การผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้มีผลทำให้ปริมาณธุรกรรมการรับจ้างทวงถามหนี้ และปริมาณการเทขายหนี้เอ็นพีแอลปรับลดลงราว 20% โดยธุรกรรมในส่วนของติดตามทวงถามหนี้ โดยเฉพาะธุรกรรมของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ลดลงอย่างชัดเจน จากมาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR)

“มาตรการที่ออกมาช่วยให้ปัญหาหนี้เสียทุเลาลง ซึ่งมีผลต่อการขายทรัพย์เอ็นพีแอลของสถาบันการเงิน ที่มีน้อยลงและช้าลง สะท้อนจากตัวเลขการเสนอขายหนี้เอ็นพีแอล (TOR) ลดเหลือเพียง 70,000-80,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่กว่า 100,000 ล้านบาท” นายสุขสันต์กล่าว

สำหรับเป้าหมายการรับซื้อหนี้มาบริหารของ CHAYO ปีนี้ตั้งวงเงินรับซื้อหนี้ไว้ที่ 2,500 ล้านบาท ปัจจุบันใช้วงเงินรับซื้อไปแล้วราว 400-500 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ 2,400 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปียอดคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 15,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท จากปัจจุบันพอร์ตอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน 50,000 ล้านบาท และไม่มีหลักประกัน 15,000 ล้านบาท

“งานตามหนี้และการตัดขายเอ็นพีแอลของแบงก์ลดลงพอ ๆ กันราว 20% โดยงานตามหนี้ช้าลงในสินเชื่อบ้านและส่วนบุคคล ซึ่งเราเห็นสัญญาณตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีก่อน และปีนี้มาช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.โดนเต็ม ๆ โดยพอร์ตตามหนี้ลดลงจาก 6,000-8,000 ล้านบาท เหลือ 5,000-6,000 ล้านบาท” นายสุขสันต์กล่าว

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่า ธุรกรรมงานรับจ้างติดตามทวงถามหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณธุรกรรมจะปรับขึ้นลงตามแนวทางมาตรการการช่วยเหลือของ ธปท.เป็นสำคัญ โดยคาดว่าปีนี้น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว พอร์ตงานติดตามหนี้น่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท จากช่วงก่อนมีมาตรการ ธปท.ขึ้นจากระดับ 20,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ พอร์ตงานติดตามทวงถามหนี้ที่ธนาคารส่งให้จะมี 2 แบบ คือ 1.หนี้อายุน้อย และ 2.หนี้ค้างชำระนานหลายปี โดยพอร์ตส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่อายุน้อย ซึ่งปัจจุบันธนาคารส่งให้น้อยลง อย่างไรก็ดี การตัดขายเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังปกติ แต่พบว่ามีบางรายเลื่อนการขายจากกำหนดเดิม ซึ่งปกติในช่วงไตรมาส 3-4 จะเป็นฤดูกาลการขายเอ็นพีแอลมากที่สุด

สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีการขายเอ็นพีแอลออกมาอย่างน้อย 20,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังคงเดินหน้ารับซื้อหนี้ต่อเนื่อง โดยตั้งงบประมาณการรับซื้อไว้ทั้งปีอยู่ที่ 6,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีสามารถรับซื้อหนี้ได้แล้วกว่า 3,300 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่สามารถรับซื้อได้ราว 3,500 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตเอ็นพีแอลอยู่ที่ 210,000 ล้านบาท


“มาตรการจัดชั้นหนี้ของ ธปท.ทำให้เอ็นพีแอลถูกกันไว้ไม่ให้ไหลลงมาแรง แต่เป็นการทยอยไหลของปริมาณหนี้ ซึ่งจากการคาดการณ์มองว่าหนี้ในกลุ่มรายย่อยที่ถูกกันไว้ไม่ให้เป็นเอ็นพีแอลภายใต้ความช่วยเหลือมีอย่างน้อย 2-3% หากไม่มีมาตรการคาดว่าหนี้เอ็นพีแอลกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 5%” นายสุทธิรักษ์กล่าว