ธปท. ลั่นเปิดกว้างผู้ให้บริการทางการเงิน เพิ่มผู้เล่นใหม่ในระบบมากขึ้น

ธปท

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เปิดกว้างเพิ่มผู้เล่นใหม่ ๆในระบบการเงิน เล็งปรับเกณฑ์แซนด์บ็อกซ์ยืดหยุ่นมากขึ้น เตือนคนไทยลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างระมัดระวังอย่างสูงเป็นพิเศษ

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการเงินไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์เพิ่มจาก 11 ล้านล้านบาท เพิ่ม 2 เท่า มาอยู่ที่ 22 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ในช่วงเดียวกันโตขึ้นเกือบ 3 เท่า ด้านมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมเพิ่มจาก 2 ล้านล้านบาท มาเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ส่วนมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนก็เพิ่มจาก 6 แสนล้านบาท มาเป็น 3 ล้านล้านบาท หรือโตขึ้น 5 เท่า

ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นก็คือ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) มีบทบาทในระบบการเงินมากขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ดิจิทัลก็มีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระบบการเงิน จากจำนวนบัญชีโมบายแบงกิ้ง จาก 5 แสนบัญชี เมื่อ 10 ปีก่อน ล่าสุดถึง มิ.ย.2564 อยู่ที่ 75 ล้านบัญชี การใช้งานระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เม้นต์) เพิ่มจาก 17 ครั้งต่อคนต่อปี เป็น 251 ครั้งต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 15 เท่า

“การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปริมาณการโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและโมบายแบงกิ้ง จาก 10 ปีที่แล้วยังอยู่แค่ 95 ล้านรายการต่อปี ปัจจุบัน 9,610 ล้านรายการต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ขณะที่มองไปข้างหน้า ระบบการเงินทั่วโลก จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆเข้ามาแข่งขันให้บริการมากขึ้น และมาจากทิศทางใหม่ ๆมากขึ้น เช่น อาจจะมาจากผู้ประกอบการที่อยู่คนละเซ็กเตอร์ไม่เกี่ยวกับการเงิน หรือมาจากผู้ประกอบการข้ามชาติ หรือมาจากช่องทางใหม่ ๆมากขึ้น รวมถึงอาจจะมาจากสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น บล็อกเชน เป็นต้น

ขณะที่แนวโน้มการใช้งานบริการด้านการเงินก็จะพัฒนาไปสู่ การใช้งานได้ทุกเวลา (Any time) ทุกสถานที่ (Any where) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์เรื่อง Green (กรีน) หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งในระบบการเงินก็ก้าวไปสู่เทรนด์นี้เช่นเดียวกัน

“Pain point ในระบบการเงินไทย  คงเป็นเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะของรายย่อย และเอสเอ็มอี โดย 86% ของครัวเรือนไทยยังมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งพบว่า 60% ของเอสเอ็มอีไทยยังไม่ได้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเลย สะท้อนถึงข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นจุดที่จะทำให้มีโอกาสที่เทคโนโลยีจะเข้ามาปรับเปลี่ยนแก้ Pain point เหล่านี้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สำหรับบทบาทของ ธปท. ในระยะข้างหน้า จะให้ความสำคัญกับการ Open Data มากขึ้น พร้อมเอื้อให้เกิดการแข่งขัน โดยให้มีผู้เล่นใหม่ ๆเพิ่มเข้ามามากขึ้น และ เปิดให้ผู้เล่นเดิม อย่างธนาคารพาณิชย์สามารถแข่งขันกับรายใหม่ ๆได้ด้วย

“ธปท. จะปรับปรุงแซนด์บ็อกซ์ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ยอมรับว่ายังไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการที่เข้ามาทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ พอเข้าแล้วสามารถออกได้ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอื้อให้เกิดการแข่งขันได้มากขึ้นด้วย” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า จากเทรนด์สินทรัพย์ดิจิทัลที่มาแรง ธปท. จะมองหาประโยชน์เพื่อนำมาใช้ และ พยายามลดความเสี่ยง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้งานได้อย่างปลอดภัย ส่วนปัจจุบันที่มีการชักชวนประชาชนให้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ก็ต้องเตือนให้ระมัดระวังอย่างสูงเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ค่อนข้างสูง