CEO ไทยพาณิชย์ ประกาศยกเครื่องธุรกิจแบงก์ “SCB ไม่เท่ากับ SCB”

จับตาซีอีโอแบงก์ไทยพาณิชย์ ประกาศยกเครื่องธุรกิจครั้งใหญ่วันที่ 22 กันยายนนี้ ภายใต้แนวคิด “SCBไม่เท่ากับSCB” แกะรอยวิสัยทัศน์ก้าวสู่ “เทคคอมปะนี” ภายใน 3-5 ปี  

วันที่ 21 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ) แจ้งว่านายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีกำหนดแถลงข่าวใหญ่ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธนาคาร ภายใต้หัวข้อ SCB ≠ SCB (SCBไม่เท่ากับSCB )   

ทั้งนี้เมื่อ 13 กันยายน 2564 นายอาทิตย์ ได้กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ ‘The Future of Financial System’ ว่า  ปัจจัยหลักที่เข้ามามีผลกระทบต่ออนาคตสถาบันการเงินไทย มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องด้วยกันได้แก่

1.ภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบนัยสำคัญของระบบธนาคารพาณิชย์  โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ   ซึ่งในอดีตธนาคารจะมองเรื่องความเสี่ยง กับผลตอบแทน  แต่ผลจากโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ตัว และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจ และความสามารถของรายย่อยในเชิงโครงสร้าง   ซึ่งเป็นโจทย์ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมาดูว่าจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนได้หรือไม่ในอนาคต

2.การมาถึงของเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ที่สร้างการแข่งขันที่ปรับเปลี่ยนเร็ว ซึ่งสร้างต้นทุนในการตอบสนองลูกค้า (Cost to Serve) ที่ต้นทุนต่ำกว่า ของผู้เล่นใหม่ โดยเหนือกว่าสถาบันการเงินที่ทำให้ลูกค้า ส่งผลให้เกิดการข้ามกันของธุรกิจ

3.พฤติกรรมผู้บริโภค  ที่มีการเปลี่ยนแปลงและคาดหวังต่อความเร็วและการบริการ ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เข้าสู่ออนไลน์ได้เร็วขึ้นอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

4.ผู้กำกับดูแล (Regulator) ซึ่งมีทั้งบวกและลบ เพราะในท้ายที่สุดผู้กำกับดูแลไม่สามารถหยุดยั้งดิจิทัลเทรนด์ หรือความต้องการของลูกค้า (Customer Demand) ได้ จึงต้องเปิดให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ทำให้สถาบันการเงินจะต้องปรับตัว  ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ขณะที่การดำเนินนโยบายภายใต้ CBDC Retail เป็นการเปิดกรอบกฎเกณฑ์ Digital Asset หรือเทคโนโลยีบนบล็อกเชน  ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองในรูปแบบไม่ได้ปิดกั้น และเปิดให้เข้ามาแข่งขันและทดแทนธนาคารได้

“ทั้ง 4 ปัจจัยที่กล่าวมานำไปสู่คำถามว่าธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบเดิมจะอยู่ได้หรือไม่  ทั้งในเรื่องของผลกระทบจากภายนอกสู่ความเสี่ยงและผลตอบแทน เทคโนโลยีที่เข้ามา พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และผู้กำกับดูแล ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินต้องตั้งคำถาม และเปลี่ยนแปลงตัวเอง  ซึ่งเราจะอยู่ในโมเดลนี้ต่อไป โดยจะมีโปรดักต์ที่ลูกค้าคาดหวังต้นทุน ความเร็ว ในแบบที่สถาบันการเงินไม่เคยทำมาก่อนได้หรือไม่”

นายอาทิตย์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ (vision) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าสู่การเป็น Tech Company ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพราะถ้าหากธนาคารเปลี่ยนแปลงไม่ได้ภายใน 3-5 ปีจะอยู่ยากขึ้น 

โดยธนาคารยอมรับว่ามีความกังวลในประเด็น 4 ปัจจัยดังกล่าวที่จะมีผลต่อการเติบโต และขีดความสามารถขององค์กร  ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่ Tech Company ที่มีจุดมุ่งเน้นเรื่องตลาดการเงิน   โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้