สมรภูมิสินเชื่อดิจิทัลเดือด ขาใหญ่มากันครบ “ทรู-AISCB-ช้อปปี้-แกร็บ”

มือถือ
PHOTO : PIXABAY

สมรภูมิสินเชื่อดิจิทัลเดือด จับตาหลังขาใหญ่ “ทรู-AISCB-ช้อปปี้-แกร็บ” โดดลงสนามชิงเค้กสินเชื่อออนไลน์ ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมทุน AIS ตั้งบริษัท “เอไอเอสซีบี” เปิดศึกแข่ง

วันที่ 22 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง ส่งผลให้เกิดความต้องการเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่องอย่างมาก โดยพบว่าปัจจุบันทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) และฟินเทคได้เข้ามาแข่งขันให้บริการ “เงินกู้ดิจิทัล” อย่างร้อนแรง ในหลากหลายแพลตฟอร์ม ภายใต้ใบอนุญาตต่าง ๆ

ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ประกาศบรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาร่วมทุน ในการจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) โดย AIS และ SCB จะถือหุ้นในสัดส่วน 50 : 50  เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไป

ความร่วมมือระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่บริษัทชั้นนำในสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ Telco และสถาบันการเงิน ร่วมทุนถือเป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังสร้างฐานธุรกิจแห่งการเติบโตในรูปแบบใหม่ให้กับทั้งสององค์กรชั้นนำระดับประเทศ

“แกร็บ-ทรู-ช้อปปี้” ซุ่มชิงเค้กเงินกู้

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด เป็นบริษัทในเครือแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย ล่าสุดเพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับแผนการให้บริการสินเชื่อขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา แกร็บก็มีบริการสินเชื่อดิจิทัลให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลจากการให้บริการ ทั้งของพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนขับ (ไรเดอร์) ผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ และพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านค้า โดยเป็นการร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์

ทั้งนี้ สินเชื่อบุคคลดิจิทัลเป็นใบอนุญาตรูปแบบใหม่ที่ ธปท.เพิ่งเปิดให้ยื่นขออนุญาตในปีนี้ เป็นการปล่อยกู้วงเงินขนาดเล็กไม่เกิน 2 หมื่นบาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% เปิดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาปล่อยสินเชื่อ โดยการใช้ข้อมูลทางเลือกมาใช้ในการให้บริการ

โดยต้นปี ธปท.ได้อนุมัติไปแล้ว 2 ราย คือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ SEA Group ทุนสิงคโปร์เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มทรู ในเครือ ซี.พี.


ทั้งนี้ บริษัท ซีมันนี่ฯ และแอสเซนด์ นาโน ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายอดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสินเชื่อทั้งสิ้น 2.5 แสนราย วงเงินสินเชื่อราว 2,400 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อราย