เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุด กนง.จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ห่วงว่างงานพุ่ง 3.4 ล้านคน

ธปท

ธปท.เปิดเผยรายงาน กนง. รอบล่าสุด 29 ก.ย.64 ประเมินเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 จับตาระยะข้างหน้ายังต้องติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ห่วงตลาดแรงงานยังเปราะบาง แนะรัฐดูแลจะเปราะบางอย่างเพียงพอ หนุนรัฐ “โคเปย์” ช่วยประคองภาคเอกชน

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564 โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังต้องติดตาม (1) แนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว

(2) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน (3) ความต่อเนื่องของมาตรการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป และ (4) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มขยายตัว 0.7% ในปี 2564 และ 3.9% ในปี 2565 ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือน ส.ค. แม้การส่งออกชะลอลง

ติดตาม “วัคซีน-ฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการเห็นควรต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีนทั้งการนำเข้าและกระจายวัคซีนตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนที่อาจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดหากการระบาดกลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับภาคส่งออกยังเผชิญปัญหา global supply disruption รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามนโยบายการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน

ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่าการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมากขึ้น (uneven recovery) ทำให้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง ซึ่งประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 3.4 ล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งสะท้อนจากจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเห็นสัญญาณแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรดูแลภาคเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)

โจทย์ใหญ่คุมการระบาดเอื้อ ศก.ฟื้นตัว

โดยคณะกรรมการเห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยควรมุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือน ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ประเมินว่าการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าจะช่วยให้จำนวนผู้ป่วยวิกฤตปรับลดลงมาใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข ทำให้การใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดมีความจำเป็นน้อยลง และภาครัฐสามารถดำเนินมาตรการที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น

หนุนอัดมาตรการการคลัง-ขยายเพดานหนี้

โดยคณะกรรมการ กนง.เห็นว่ามาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปัจจุบันทั้งการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยในระยะต่อไป ควรเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟู และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย นอกจากนี้ คณะกรรมการเห็นว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถผลักดันนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงในระยะต่อไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

รัฐต้องช่วยค่าใช้จ่ายเอกชน “โคเปย์”

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและภาคเอกชนมีส่วนร่วม (co-payment) เพื่อให้มีตัวทวีทางการคลังสูงและได้ผลในวงกว้างขึ้น รวมทั้งควรมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้โดยระยะต่อไป ภาครัฐควรเตรียมแนวทางที่ชัดเจนในการทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลงเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนของรายจ่ายประจำ การเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

สินเชื่อฟื้นฟูคืบหน้าตามเป้า

นอกจากนี้ คณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย. 2564 ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง 6 เดือนแรก สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อคืบหน้ามากขึ้น

โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่กระจายตัวดีทั้งด้านจำนวนและความเสี่ยงของลูกหนี้ แต่ควรเร่งผลักดันกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง อาทิ (1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 2 หลังจากที่ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันให้สามารถรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่วงเงินเดิมน้อยหรือไม่เคยมีวงเงิน (2) มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (3) มาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาทิ โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ให้แก่ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด

และ (4) การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้าง เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ อาทิ การให้ความยืดหยุ่นในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรอง เพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้ยั่งยืนขึ้นมากกว่าการขยายเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง