เปิดกลยุทธ์ SMEs ค้าปลีก รองรับการฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์

คอลัมน์ Smart SMEs
ttb analytics

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากดัชนีค้าปลีกปี 2563 ลดลงร้อยละ10 จากปี 2562 เทียบกับในช่วงก่อนโควิดที่เติบโตร้อยละ 5 ต่อปี อย่างไรก็ดี หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก

ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละประเภทของธุรกิจค้าปลีกทยอยฟื้นตัวแตกต่างกัน เช่น ค้าปลีกออนไลน์ใช้เวลาฟื้นตัวเพียง 1 ไตรมาสหลังคลายล็อกดาวน์ ขณะที่ร้านขายของที่ระลึกที่ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจต้องรอเวลาฟื้นตัวไปจนถึงกลางปี 2565

นอกจากนี้ ด้วยลักษณะเฉพาะของแต่ละธุรกิจ ทำให้การเลือกกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์หรือสนับสนุนให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อประคองตัวรองรับการฟื้นตัวต่อไป เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกไม่อาจมองข้ามได้

บริหารสภาพคล่องอย่างไร ให้ธุรกิจเติบโตสอดคล้องกับระดับการฟื้นตัว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกนับตั้งแต่เริ่มคลายล็อกดาวน์ โดยนำข้อมูลดัชนีค้าปลีก ซึ่งเป็นข้อมูลการขายสินค้าของธุรกิจค้าปลีกประเภทต่าง ๆ มาวิเคราะห์และแบ่งธุรกิจค้าปลีกออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็ว (1-3 เดือน) กลุ่มที่รอเวลาฟื้นตัว (ใช้เวลา 3-6 เดือน) และกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า (ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน)

นอกจากนี้ ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา หากต้องการให้ธุรกิจเติบโตไปตามระดับการฟื้นตัว กลยุทธ์สำคัญที่ตอบโจทย์ธุรกิจ คือ “การรักษาสภาพคล่อง” ซึ่งหมายถึง การที่เจ้าของธุรกิจสามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดให้เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจได้โดยไม่เกิดปัญหา โดยยึดหลักการประเมินว่าจะต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจแต่ละครั้งภายในกี่วัน นับตั้งแต่การนำเงินสดไปใช้เพื่อซื้อวัตถุดิบและสินค้า จ้างคนเพื่อผลิต ขนส่งสินค้าและวางจำหน่าย จนกระทั่งจำหน่ายสินค้าได้

ดังนั้น เมื่อทราบถึงทิศทางการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจ และนำมาประกอบกับการวิเคราะห์ลักษณะของธุรกิจ จะทำให้สามารถเลือกใช้กลยุทธ์วางแผนจัดการประคับประคอง การปรับตัว หรือการขยายธุรกิจได้ต่อไป

เปิดกลยุทธ์รองรับการฟื้นตัวธุรกิจค้าปลีก

– ธุรกิจฟื้นตัวได้เร็ว (ใช้เวลา 1-3 เดือน) ตัวอย่างธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ การขายออนไลน์ ร้านขายยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์น้อยกว่าธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ และมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ธุรกิจจะต้องบริหารสภาพคล่องและสต๊อกสินค้าให้เพียงพอรองรับตลาดที่กำลังกลับมาขยายตัว เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

– ธุรกิจรอการฟื้นตัว (ใช้เวลา 3-6 เดือน) ได้แก่ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายอะไหล่และซ่อมรถยนต์ สำหรับกลยุทธ์ที่ใช้นอกจากธุรกิจต้องดูแลกระแสเงินสดเพื่อประคับประคองในช่วงแรกแล้ว จำเป็นต้องวางแผนสภาพคล่องให้รองรับตลาดที่จะกลับมาขยายตัวในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เช่น ปัจจุบันหากธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการเก็บเงินค่าขายสินค้าใช้เวลามากกว่าช่วงเวลาปกติอยู่ที่ 31 วัน (เป็นค่ากลางของธุรกิจในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19) หรือมีสินค้าที่อยู่ระหว่างการขายค้างอยู่มากเกินไปควรปรับลดระยะเวลา เพื่อให้มีกระแสเงินสดดีขึ้น และกลับมาแข่งขันในตลาดเร็ว

– ธุรกิจฟื้นตัวช้า (ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน) ได้แก่ ร้านขายของที่ระลึก จำเป็นต้องบริหารสภาพคล่องให้เหมาะสม เพื่อประคับประคองธุรกิจที่ต้องใช้เวลานานกว่าที่ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับสู่ปกติ หรือบางธุรกิจ เช่น ร้านขาย วัสดุก่อสร้าง ควรเร่งปรับสต๊อกสินค้าให้มากกว่าปกติ เพื่อเป็นเงินสดหมุนเวียน ในช่วงที่ภาคธุรกิจก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่