สภาทองคำโลก ชี้ความต้องการทองคำพุ่งขึ้น จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

สภาทองคำโลก ชี้ความต้องการทองคำพุ่งขึ้น จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยไตรมาส 3 ความต้องการทองคำโลกลดลง 7% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 831 ตัน  ส่วนไทยมียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้น 9 ตัน  ชี้ช่วงที่เหลือปีนี้และปีหน้านักลงทุนรายย่อยหันกลับมาซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ  ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นหลังธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มสำรองทองคำ 

วันที่ 28 ตุลาคม 2564  Andrew Naylor ผู้บริหารประจำภูมิภาค (APAC ไม่รวมประเทศจีน) และนโยบายสาธารณะ สภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดเผยว่า ความต้องการทองคำโลกไม่รวมการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC) ในไตรมาส 3 เดือน ก.ค.- ก.ย. 64 ลดลง 7%  เมื่อเทียบรายปี และ 13% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 831 ตัน

เนื่องจากนักลงทุนสถาบันมีการเทขายทองคำ ซึ่งมีสาเหตุจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา  รวมถึงเงินที่ไหลออกกองทุน ETF ทองคำ ราว 27 ตัน แต่อย่างไรก็ตามกองทุน ETF ทองคำยังถือครองทองคำในระดับสูง อยู่ที่ 3,592 ตัน

ด้านราคาทองคำเฉลี่ยอยู่ที่ 1,790 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ตลอดทั้งไตรมาส ลดลงจากระดับสูงสุดตลอดกาลในไตรมาส 3/63 แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี

สำหรับแนวโน้มความต้องการทองคำในช่วงที่เหลือของปีนี้ 2564 รวมถึงในปีหน้า 2565  คาดว่านักลงทุนรายย่อยจะมีความต้องการซื้อทองคำเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19  และเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น

นอกจากนี้คาดว่าปีหน้าจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงจะเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้นักลงทุนหันกลับมาซื้อทองคำมากขึ้นเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้  รวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ เช่นน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะมีราคาสูงขึ้นก็จะหนุนให้นักลงทุนหันกลับมาซื้อทองคำมากขึ้นเช่นกัน

Andrew  กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีสำรองด้วยทองคำเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผู้ที่ซื้อสุทธิทองคำมากที่สุดคือ บราซิล อินเดีย ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นประเทศผู้ซื้อสุทธิเช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มกลับมาสำรองทองคำเพิ่มปีนี้เป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2560

Andrew Naylor

ส่วนความต้องการทองคำในประเทศไทยมียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งในรูปแบบของทองคำรูปพรรณ ทองคำแท่งและเหรียญ โดยในไตรมาส 3 ช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย. 64 มียอดซื้อสุทธิ 9 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ขายสุทธิ 44 ตัน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ทั้งนี้ความต้องการโดยรวมได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย อาทิ ความต้องการซื้อเครื่องประดับทองของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 2 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39% นอกจากนี้ ทองคำแท่งและเหรียญทองคำซึ่งเป็นสินค้าประเภททองคำอีกรูปแบบหนึ่งยังได้แรงช้อนซื้อจากนักลงทุนรายย่อยอย่างท่วมท้นถึง 7 ตันด้วยเช่นกัน

“ประเทศไทยเผชิญกับความผันผวนอย่างมากจากการลดการลงทุนครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุน
หันไปถือครองทองคำเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 และสร้างความ
ได้เปรียบจากราคาทองคำที่สูงขึ้น” ตรงข้ามกับปีนี้ที่นักลงทุนไทยซื้อทองคำสุทธิ โดยได้แรงหนุนให้เข้าซื้อ
ในช่วงที่ราคาทองคำอ่อนตัว รวมถึงความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่พิทักษ์ความมั่งคั่งและสินทรัพย์
ปลอดภัย”  Andrew  กล่าว