ตุลาคมนี้เกษียณแล้ว เปลี่ยนผ่าน “วัยทำงาน” เป็น “วัยเกษียณ” อย่างไรให้ราบรื่น

วิภา เจริญกิจสุพัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

เชื่อว่าภาพหลังเกษียณของทุกคนคือ พักผ่อน สบาย สบาย อยากทำอะไรทำได้อิสระ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่เกษียณแล้วก็อาจมีความกังวล ไม่แน่ใจว่าเงินออมทั้งหมดที่มีอยู่จะพอใช้หลังเกษียณหรือไม่

บางท่านเกษียณได้เงินก้อน เข้ามาปรึกษาว่าอยากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนจะลงทุนอะไรดี สิ่งที่ต้องทำก่อนการนำเงินไปลงทุนคือการรวบรวมเงินหลังเกษียณทั้งหมด แล้วประมาณการรายจ่ายเทียบกับเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเงินที่เตรียมไว้เพียงพอหรือไม่ ควรนำเงินไปลงทุนที่ไหนที่เหมาะสม

นี่คือการเปลี่ยนผ่านวัยทำงานมาเป็นวัยเกษียณ (transition into retirement) การเข้าใจสถานะปัจจุบันทำให้เกิดทางเลือกที่ชัดเจนว่าเงินออมพอตามวิถีชีวิตที่ต้องการ (Life Style) หรือไม่ ถ้าไม่พอก็มีทางเลือกได้ว่าจะต้องหารายได้เพิ่มหรือเลือกที่จะใช้จ่ายตามเงินออมเท่าที่มีอยู่

ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าหลังเกษียณรายได้ที่เคยไหลเข้ามาจะหยุด รายรับที่จะเข้ามาแทนคือแหล่งเงินหลังเกษียณ ลองดูภาพแหล่งรายได้ เทียบกับค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณกับหลังเกษียณ ตารางด้านซ้ายรายรับมาจากรายได้จากการทำงาน ตารางด้านขวารายรับมาจากเงินออมและสวัสดิการจากภาครัฐ รายรับด้านขวาคือสิ่งที่เราต้องรวบรวม เทียบกับประมาณการรายจ่ายหลังเกษียณ

ตารางวางแผนก่อนเกษียณ

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำลำดับแรกคือ สำรวจแหล่งเงินทดแทนรายรับหลังเกษียณ จะมีอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับอาชีพ ทำงานบริษัทเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ เงินออมก้อนใหญ่คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินชดเชยตามกฎหมายกรณีเกษียณตามเงื่อนไขขององค์กรที่สังกัด

ลำดับความคิด

  1. รวบรวมแหล่งเงินทดแทนรายรับหลังเกษียณ
  2. หลังเกษียณมีโครงการหรือเป้าหมายที่ต้องใช้เงินก้อนเท่าไรให้แยกเงินก้อนนี้ออกมาก่อน
  3. ประมาณการอายุขัย ใช้อายุเฉลี่ยปู่ย่าตายาย โดยบวกเผื่อไป 10 ปี เช่น อายุเฉลี่ยปู่ย่าตายาย 80 ปี บวก 10 อายุประมาณการคือ 90 ปี (แนวโน้มสถิติโดยรวมอายุยืนขึ้น)
  4. คำนวณจำนวนปีระหว่างอายุเกษียณและอายุขัย เช่น เกษียณอายุ 60 อายุขัยประมาณการ 90 จำนวนปีหลังเกษียณคือ 31 ปี
  5. ประมาณการแหล่งเงินเกษียณที่มีอยู่ ใช้ถึงสิ้นสุดอายุขัยใช้ได้ปีละเท่าไร โดยนำข้อ 1-ข้อ 2 คงเหลือเท่าไร หารจำนวนปีหลังเกษียณ (ข้อ 4)
  6. ประมาณการรายจ่ายหลังเกษียณต่อเดือนแล้วคำนวณเป็นรายจ่ายต่อปี
  7. เปรียบเทียบแหล่งเงินเกษียณเฉลี่ยต่อปี (ข้อ 5) กับประมาณการรายจ่ายต่อปี (ข้อ 6)
  8. เตรียมเงินสดพร้อมใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย 2 ปีแรก ส่วนที่เหลือลงทุนความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เฉลี่ยผลตอบแทน 3-4%
  9. หลังเกษียณจัดทำงบประมาณรายจ่ายต่อเดือน และจดบันทึกรายจ่ายทุกครั้งที่จ่ายโดยมีงบประมาณรายจ่ายควบคุม จำนวนเงินที่จ่ายได้แต่ละรายการ ปรับแต่งงบประมาณรายจ่ายในเดือนถัดไปสำหรับรายการที่ทำงบประมาณไว้สูงหรือต่ำเกินไป จดรายจ่าย 1-2 ปี จะทำให้เห็นโครงสร้างรายการรายจ่ายของวิถีการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ตัวอย่าง

วิธีสำรวจสถานะปัจจุบันนี้สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีการวางแผนจริงจังล่วงหน้าในวัยทำงาน และต้องการวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณกับแหล่งเงินเกษียณที่มี

จากตัวอย่างจะทำให้พอทราบว่าประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณที่ประมาณการไว้สูงกว่าเงินที่เตรียมไว้ไม่มาก ซึ่งมีทางเลือกในการบริหารจัดการ ดังนี้

  1. ควบคุมการใช้จ่ายเท่าที่แหล่งเงินหลังเกษียณมี โดยปรับงบประมาณรายจ่ายใหม่ให้อยู่ในเงินที่ใช้ได้ต่อเดือน และจดค่าใช้จ่ายต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
  2. สร้างรายได้หลังเกษียณ (ถ้าทำได้) อาจจะใช้ทักษะจากอาชีพก่อนเกษียณสร้างงาน หรือสร้างอาชีพจากงานอดิเรกที่ชอบ หรืออาชีพเดิมของครอบครัว เช่น ทำอาหาร ปลูกผักสลัด ฯลฯ
  3. กันเงินสำหรับค่าใช้จ่าย 2 ปีแรกของการเกษียณ และแบ่งเงินก้อนที่เหลือออกเป็น 3 ส่วน ลงทุนในความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนความหวังเฉลี่ย 1-2% ต่อปี เพื่อใช้ในช่วง 10 ปีแรก ส่วนที่ 2 ลงทุนความเสี่ยงปานกลางผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 3-4% ต่อปี สำหรับช่วง 10 ปีถัดไป และส่วนที่ 3 ลงทุนความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูงผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 5-6% ต่อปี สำหรับช่วง 10 ปีสุดท้าย

คนที่เกษียณและกำลังเกษียณในช่วงไม่กี่ปีนี้ ส่วนมากจะไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเกษียณที่ต้องเตรียมล่วงหน้า ดังนั้นการวางแผนการใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากวัยทำงานมาเกษียณได้ราบรื่นมากกว่าไม่มีการวางแผน

จะดีกว่ามากสำหรับคนรุ่นหลังที่ยังทำงานอยู่และเกษียณในอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีข้างหน้า กำหนดเป้าหมายจำนวนเงินเกษียณที่ต้องการตามวิถีชีวิตที่ต้องการ วางแผนการออมและลงทุนอย่างเป็นระบบ ช่วงเกษียณจะสามารถใช้ชีวิตอิสระ สบาย ๆ ได้อย่างภาพฝันที่ตั้งใจ