Bitkub ความสำเร็จของ ท็อป จิรายุส ซีอีโอหมื่นล้าน หลัง SCBS ซื้อหุ้น 51%

ประวัติ Bitkub ถอดแนวคิด ท็อป จิรายุส หลัง SCBS เข้าถือหุ้นเกินครึ่ง
ภาพจากเฟซบุ๊ก ท๊อป จิรายุส - Topp Jirayut

เปิดประวัติ Bitkub ธุรกิจแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทย ถอดมุมมองแนวคิด “ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ซีอีโอวัย 31 ปี หลังบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS ลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นเกินครึ่ง 

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ประกาศส่ง SCBS เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บิทคับ ออนไลน์ สัดส่วน 51% มูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรวางรากฐานธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มุ่งสร้างการเติบโตระยะยาว ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลของบริษัท Bitkub หรือ “บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” รวมถึงมุมมองแนวคิดของ “ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

ภารกิจเราคือการปฏิวัติวิถีทางการเงินของทุกคน

“ภารกิจเราคือการปฏิวัติวิถีทางการเงินของทุกคน” นั้นปรากฏบนเว็บไซต์ Bitkub บริษัทก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  2561 และเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนรุ่นใหม่สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้บริการเหนือระดับแก่บุคคลทั่วไป ให้สามารถซื้อ ขายและเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ตามต้องการ บริษัทได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยทุนจดทะเบียน 290 ล้านบาท และมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

4 ปรัชญาเสาหลักค้ำจุนบิทคับ

  • ความถูกต้อง (Intregity) ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และความถูกต้องสมบูรณ์ในทุกๆ กระบวนการ
  • ลูกค้าต้องมาก่อน (Customer) ความจำเป็นและสวัสดิภาพของลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ
  • ประสิทธิภาพ (Efficiency) รักษามูลค่าเงินด้วยบริการทางการเงินแบบไร้แรงเสียดทาน
  • นวัตกรรม (Innovation) เราเปลี่ยนความคิดให้เป็นจริงและเสนอกรณีการใช้คริปโทเคอเรนซีต่าง ๆ

ท็อป จิรายุส CEO ดีกรีออกซฟอร์ด

ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอของบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บิทคับ ออนไลน์ หนึ่งในเว็บเทรดคริปโทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี ที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้าน ICO และบริการแก้ปัญหาบล็อกเชน

ในช่วงชีวิตการทำงานของท็อปนั้นได้อุทิศให้กับอุตสาหกรรมบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล และเขายังเป็นอดีตผู้ก่อต้ังเว็บซื้อขายบิตคอยน์รายแรกของไทยนามว่า Coins.co.th

ก่อนหน้านี้ จิรายุส ได้ทำงานด้านวาณิชธนกิจและเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เคยทำงานให้กับธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ในด้านการศึกษา จบปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อังกฤษ

เส้นทางสู่บิตคอยน์

จิรายุส บอกกับประชาชาติธุรกิจว่า ตอนเด็ก ๆ เป็นคนเกเรไม่ตั้งใจเรียน มีผลการเรียนต่ำจนกลายเป็นปมในใจ พอเข้ามหาวิทยาลัยจึงพยายามเปลี่ยนตัวเอง อ่านหนังสืออย่างหนักทุกวัน จนสามารถสอบเข้าสาขาเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

ทั้งยังคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครองได้ จากนั้นยังคงเรียนต่อในสหราชอาณาจักร โดยสอบเข้าระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลก อย่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขาเศรษฐศาสตร์ได้

บริหารแบบทำสงคราม

ใน 2 ปีแรก บริษัทของเขามีพนักงาน 40 คน เขาบอกว่า ผมสวมหมวก war time เป็นซีอีโอแบบที่รบในสงคราม เพราะการทำธุรกิจสตาร์ตอัพช่วงแรกต้องรีบทุกอย่าง เพื่อจะทำให้บริษัทมีกำไรภายในช่วงรันเวย์ (runway) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเงินทุนหมด และจะไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่มีรายได้

โดยส่วนใหญ่บริษัทสตาร์ตอัพมีรันเวย์อยู่ที่ 18 เดือน ถึง 2 ปีเท่านั้น ดังนั้น การรีบทำทุกอย่างเพื่อหากำไรจึงเปรียบเสมือนการประกอบเครื่องบินรบให้ทันก่อนที่จะถูกโจมตีนั่นเอง

ช่วง war time ต้องใช้วิธีบริหารองค์กรที่ผู้บริหารเป็นเหมือนแม่ทัพ คอยสั่งการทิศทางต่าง ๆ และพนักงานต้องทำตามกระบวนการที่ผู้บริหารกำหนด ซึ่งการบริหารแบบนี้สร้างความท้าทายในเรื่องของประสิทธิภาพ (efficiency) หน้าที่ของผมตอนนั้น คือ ต้องเค้น efficiency ของทุกคนออกมาให้ได้มากที่สุด และต้องได้ผลลัพธ์ที่สูง

กลยุทธ์สร้างนาฬิกา

เขาอธิบายว่า หลังจากผ่าน 2 ปีแรก บริษัททำกำไรแล้ว จึงเปลี่ยนมาสวมหมวก peace time เป็นซีอีโอช่วงสงครามสงบ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรื่องเงินไม่ใช่อุปสรรคและเราก็มีเวลา ดังนั้น ผู้บริหารต้องหันมาดูเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเป็นหลัก ดูค่านิยมองค์กร และจุดประสงค์ขององค์กรที่ต้องเป็นตนเอง (authentic) ไม่เหมือนใคร

ที่สำคัญจะต้องมี Chief People Officer หรือผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารคน ส่วนวิธีการบริหารองค์กรในช่วงนี้จะตรงข้ามกับที่ทำใน war time เกือบทุกอย่าง

“ผู้บริหารในเฟสนี้คือคนที่สร้างนาฬิกา หมายความว่า เป็นคนที่ออกแบบองค์กร (organizational design) จะต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจ (decentralize decision making) โดยต้องให้ทีมตัดสินใจแทน และให้โอกาสพวกเขาทำผิดพลาดบ้าง ให้พวกเขาทดลองทำสิ่งที่อยากทำ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

ซึ่งข้อดีคือ คนที่ทำผิดพลาด เขาจะโตขึ้น และผมเชื่อว่าการที่พนักงานมีทัศนคติและความเชื่อเดียวกับองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เก่งมาก แต่พอมีความเชื่อเหมือนเรา เราก็จะปั้นเขาให้เก่งได้”

แต่แค่ decentralize decision making ยังไม่พอ ผู้บริหารต้องให้ข้อมูลต่าง ๆ กระจายไปหาพนักงานอย่างรวดเร็วด้วย เพราะการที่พนักงานจะตัดสินใจได้ดี และทำงานได้ดี พวกเขาต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ครบก่อน

เลือกคนเก่งกว่าค่าเฉลี่ย

เขามองว่า บริษัทคือค่าเฉลี่ยของคน ดังนั้น บริษัทที่มีแต่คนมีความสามารถปานกลาง ระดับทั่วไป (average) จะส่งผลให้บริษัทอยู่แค่ระดับปานกลางในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เท่านั้น แต่สำหรับ Bitkub จะเลือกรับคนที่มีความสามารถสูงกว่าค่าเฉลี่ย

โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า hire slow and fire fast คือ การสรรหาคัดเลือกพนักงานที่ดูให้ดี ดูนานๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พนักงานทำงานที่ส่งผลเสียแก่องค์กร ก็ต้องให้ออกอย่างเร็วที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย

สอนทักษะสร้างผู้นำ

เขาย้ำว่า ชุดความรู้ความสามารถ (skillset) ในช่วง peace time คือ การสร้างความเชื่อใจกัน และสร้างทักษะความเป็นผู้นำ

โดยโครงสร้างความเป็นผู้นำที่สำคัญของ Bitkub คือ การทำให้ C-level หรือผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ใช่ผู้ร่วมก่อตั้งเชื่อใจกัน กล้าที่จะแชร์ข้อมูลกัน และสามัคคีกัน ผมจึงเริ่มที่ตัวผมก่อน และสร้างค่านิยมองค์กรตัวหนึ่งที่เรียกว่า earn trust เริ่มจากผมที่แสดงความเชื่อใจกับพนักงาน และแชร์ข้อมูลที่สำคัญให้พวกเขา

“นอกจากนั้น เรามีโปรแกรมพัฒนาทักษะที่เรียกว่า AMA (Ask Me Anything) session คือ ทุกสัปดาห์ พนักงานทุกคนจะรวมตัวกัน คนที่อยากจะสอนเรื่องใหม่ ๆ ให้เพื่อนพนักงานได้รู้ ก็สามารถจองห้องประชุม และพนักงานจะกระจายไปเรียนรู้ตามห้องต่าง ๆ และทุกวันพฤหัสบดีเรามีกิจกรรมเรียกว่า Thirsty Thursday เป็นการพบปะคนที่อยู่ในทีมวัฒนธรรม เพื่อพูดคุยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรในบรรยากาศสังสรรค์ และเป็นกันเองหลังเลิกงาน”

ออฟฟิศยุคใหม่ ใส่ใจพนักงาน

ออฟฟิศ Bitkub เป็นสถานที่ทำงานที่ถูกออกแบบขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน ผสานศิลปะเข้ากับการทำงานอย่างลงตัว เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจอยู่ที่อาคาร FYI Center ตรงสี่แยก ถ.รัชดาฯ-พระราม 4 ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ไลฟสไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการทำงาน

นายจิรายุส เปิดเผยว่า หลักการสร้างพื้นที่ทำงานของ Bitkub คืออำนวยความสะดวกพนักงานทุกด้านเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดภาระและเวลา ไม่ให้พนักงานต้องกังวลกับเรื่องอื่น ๆ ในที่ทำงาน เพื่อจะได้ทำงานอย่างเต็มที่

ดังนั้นบริษัทจึงเตรียมอาหารเช้า, กลางวัน และของว่างให้ ถ้ารู้สึกเมื่อยล้าก็สามารถไปใช้บริการที่ห้องนวด ซึ่งมีเก้าอี้นวดหลายตัวเตรียมไว้ มีห้อง nap room สำหรับนอนพักด้วย นอกจากนั้นยังมีห้องตัดผมให้พนักงาน จะได้ไม่ต้องไปรอคิวร้านข้างนอก

ส่วนแปลนออฟฟิศที่นี่เป็นแบบ open office ไม่มีพาร์ทิชั่นกั้นระหว่างแผนกและโต๊ะ ทำให้การสื่อสารไหลลื่นไม่มีสะดุด ส่วนผนังสีขาวรอบออฟฟิศสามารถใช้เป็นกระดานเขียนได้ มีตู้โทรศัพท์สำหรับการคุยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และมีพื้นที่กลางแจ้งเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศด้วย

ห้องประชุมใช้ชื่อของเหรียญคริปโทฯ เช่น ห้องบิตคอยน์ เป็นห้องประชุมใหญ่สุด, อีเธอเรียมเป็นห้องขนาดกลาง และโมเนโร่เป็นห้องเล็กสุด ในขณะที่โถงกลางขนาดใหญ่ใช้จัดงานสังสรรค์ของพนักงาน, ลูกค้า และพันธมิตรตามหัวข้อต่าง ๆ


ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ Bitkub จะไม่มีห้องทำงานส่วนตัว แต่จะมีห้องใหญ่ 1 ห้อง สำหรับระดับผู้บริหารนั่งคุยงานกัน เพราะส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ข้างนอกร่วมกับพนักงาน และเดินไปมามากกว่าอยู่กับที่