“เจอจ่ายจบ” ทะลุ 3 หมื่นล้าน บริษัทประกันจุกหวั่นปิดกิจการเพิ่ม

“เจอจ่ายจบ” เขย่าวงการประกันไม่จบ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่งสัญญาณอันตรายเตือนธุรกิจตรวจสอบสถานะเงินกองทุน ผวาซ้ำรอย “เอเชียประกันภัย” ถูกยกเลิกใบอนุญาต เผยยอดเคลมประกันโควิดทะลุ 3 หมื่นล้าน บริษัทขายประกันเจอ จ่าย จบขาดทุนถ้วนหน้า หวั่นโควิดระลอกใหม่ปะทุรับมือไม่ไหว คปภ.เตรียมรับมือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างรุนแรงเช่นกัน ผลจากการแห่ขายกรมธรรม์ประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 64 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท

ขณะที่ยอดเคลมพุ่งสูงขึ้นตามสถานการณ์ระบาดของโรค จนทำให้บริษัทประกันหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่อง และเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 64 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัท “เอเชียประกันภัย” เนื่องจากมีปัญหาฐานะการเงิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายสินไหม

ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราการจ่ายเคลมประกัน “เจอจ่ายจบ” ที่เพิ่มสูงขึ้น

เคลมโควิดพุ่งสัญญาณอันตราย

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดเคลมสินไหมประกันภัยโควิดทั้งระบบจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2564 สูงกว่า 30,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว โดยประเมินว่าสิ้นปี 2564 ยอดเคลมอาจจะสูงแตะ 35,000-40,000 ล้านบาท และจะแตะระดับ 26-30% ของเงินกองทุนบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายประกันภัยโควิดประเภท “เจอจ่ายจบ”

ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายมาก เพราะตามหลักการประกันภัยการรับเสี่ยงภัยใดภัยหนึ่งจะไม่ควรเกิน 10% ของระดับเงินกองทุน

ขณะที่ปัจจุบันกรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบ ส่วนใหญ่ยังจะต้องคุ้มครองตามระยะเวลากรมธรรม์ไปอีกจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ดังนั้นทางสมาคมมีความกังวลว่าหากเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ขึ้นมา ธุรกิจประกันวินาศภัยจะรับมือไหวหรือไม่

ทั้งนี้จากยอดเคลมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันโควิดที่บริษัทประกันรับไปเพียงหมื่นกว่าล้านบาท สะท้อนว่าบริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบ ต้องประสบปัญหาขาดทุนกันถ้วนหน้า เนื่องจากยอดเคลมสินไหมของลูกค้าสูงกว่ามูลค่าเบี้ยประกัน 2-3 เท่า

นายอานนท์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น หลัก ๆ มาจาก 2 ประเด็นคือ 1.ธุรกิจประกันวินาศภัยไม่คาดคิดว่าจะขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดประเภทเจอจ่ายจบได้มากขนาดนี้ในช่วง 2 เดือนกว่า ๆ (15 เม.ย.-30 มิ.ย. 64) ซึ่งเข้ามามากถึง 13 ล้านกรมธรรม์ เมื่อรวมยอดขายตั้งแต่ต้นปี 2564 มียอดกรมธรรม์สูงกว่า 15 ล้านกรมธรรม์

“ภาคธุรกิจพยายามติดเบรกแล้ว แต่ยอดขายเข้ามาเร็วเกินไปในช่วง 2 เดือนครึ่ง หรือกว่า 13 ล้านกรมธรรม์ ขณะที่ไตรมาสแรกมียอดขายเข้ามาแค่ 1.8 ล้านกรมธรรม์เท่านั้น” นายอานนท์กล่าว

และ 2.จำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 64 เพิ่มขึ้นไปกว่า 20,000 รายต่อวัน ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจประกันย่ำแย่ เพราะตอนที่คำนวณอัตราเบี้ยใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของปี 2563 ซึ่งช่วงนั้นมีอัตราผู้ติดเชื้อสะสมแค่ 6,800 ราย แต่ช่วงปี 2564 ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.8-1.9 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 300 เท่า หรือ 30,000% เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตจาก 60 ราย เพิ่มเป็น 18,000-19,000 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 300 เท่าเช่นกัน ทำให้ยอดเคลมที่บริษัทประกันต้องจ่ายสูงมาก ขณะที่การระบาดโควิดยังไม่จบ จึงห่วงว่าจะเกิดโควิดระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีก

หวั่นซ้ำรอยเอเชียประกันภัย

“ดังนั้นทางสมาคมจึงแจ้งเตือนสมาชิกบริษัทประกันวินาศภัยให้พิจารณาดูสถานะเงินกองทุนของตัวเองว่าจะเพียงพอหรือไม่ หากเกิดปัญหาการระบาดโควิดจะรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าอีก จะรับมือไหวหรือไม่ หรือส่อแววต้องปิดกิจการเหมือนกับบริษัทเอเชียประกันภัย ฉะนั้นจึงต้องระวังให้มาก” นายอานนท์กล่าว

ทั้งนี้ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ ก็ต้องหารือใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อหาทางรับมือและแก้ไขปัญหาให้ธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป เพราะเชื่อว่าผลกระทบจะสูง

ส่วนมาตรการเสริมสภาพคล่องขณะนี้ถือว่าช่วยให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายประกันภัยโควิดเดินหน้าจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิดได้ค่อนข้างดี

ยกเลิกเบิก Home Isolation

ด้าน นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ คปภ.ได้ออกคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิดสำหรับผู้เอาประกันติดเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ที่เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ home isolation หรือแบบ community isolation

สำหรับบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งได้สิ้นสุดการบังคับใช้สิทธิไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน คปภ.ได้มีคำสั่งไม่ขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ออกไป ส่งผลให้การเบิกค่ารักษาส่วนนี้เป็นอันยกเลิก

“เนื่องด้วยปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ลดลงต่อเนื่อง และเตียงในโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้เพียงพอ ทำให้ความจำเป็นในการรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชนไม่มี ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิดของไทย จะทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิดในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายอาภากรกล่าว

3 บริษัทต้องเสริมสภาพคล่อง

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า ตามที่บอร์ด คปภ.ได้ออกประกาศ “มาตรการเสริมสภาพคล่อง” สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564

โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

มาตรการเสริมสภาพคล่องคือ การลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันในช่วงการแพร่ระบาดโควิด จากส่วนที่ตั้งไว้ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่น ที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน

ทั้งยังทำให้บริษัทประกันมีเวลามากขึ้นในการปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

โดยปัจจุบัน คปภ.ได้เห็นชอบ 3 บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับการผ่อนผันตามมาตรการแล้วคือ 1.บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข คปภ.จะยกเลิกมาตรการผ่อนผันในทันที เนื่องจากมาตรการผ่อนผันดังกล่าวเป็นกลไกชั่วคราวที่ช่วยเหลือบริษัทประกันที่ประสบปัญหาสภาพคล่องรายกรณี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย