
สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ติดลบ 0.3% หลังโควิดระบาดรัฐใช้มาตรการดูแลเข้มงวด คาดทั้งปี’64 โต 1.2% ส่วนปีหน้า คาดขยายตัว 4%
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และแนวโน้มปี 2564-2565 ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปี 2564 ติดลบ 0.3%
- เช็กผลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม ส.ก. ใครชนะ เรียลไทม์
- สรุปคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 100% ที่ 2 สุชัชวีร์ เฉือน วิโรจน์ 785 คะแนน
- ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เปิดตัวภรรยา คนที่ 2 ลมใต้ปีกในสนามผู้ว่าฯ กทม.
เนื่องจากการระบาดของโควิดทำให้รัฐต้องใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การบริโภคเอกชน ติดลบ 3.2% การลงทุนรวม ติดลบ 0.4% ขณะที่สาขาอุตสาหกรรม ติดลบ 1.4% เพราะการแพร่ระบาดโควิดทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหยุดชะงัก รวมถึงกรณีตู้สินค้ามีข้อจำกัด เป็นต้น ด้านการก่อสร้างลดลง ติดลบ 4.1% จากการปิดไซต์งานก่อสร้าง

ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ขณะที่การบริโภค ขยายตัว 1.2% ส่งออก 16.8% เงินเฟ้อ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัด ติดลบ 2.5%
“แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้น โดยไตรมาส 3 จะเป็นจุดที่ค่อนข้างมีปัญหามากที่สุด ซึ่งหากสถานการณ์โควิดอยู่ยังเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 แน่นอน อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิดตอนนี้ภาคใต้ และเชียงใหม่ยังน่ากังวล ก็ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป”
ขณะที่ปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4% คาดว่าการบริโภค ขยายตัว 4.3% การลงทุนเอกชน 4.2% การลงทุนภาครัฐ 4.6% และการส่งออก 4.9% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย 5 ล้านคน มีรายรับกว่า 4.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค
“ตอนนี้สาธารณสุขมีศักยภาพในการบริหารจัดการโควิด โดยในเดือนพ.ย.จะจัดหาวัคซีนเข้ามา 20 ล้านโดส ในเดือนธ.ค.อีก 20 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอในการให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชน และในปี 2565 จะจัดหาวัคซีนเตรียมไว้ด้วย ประมาณ 60 ล้านโดส เพื่อบูสเตอร์เป็นเข็มที่ 3 และ 4 ในระยะถัดไป ส่วนการกระจายวัคซีนในขณะนี้ฉีดไปแล้ว 84 ล้านโดส ผู้รับเข็มแรกครอบคลุม 62% เข็ม 2 ครอบคลุม 50% ซึ่งหากมีการกระจายวัคซียครอบคลุมทั้งหมดจะส่งผลดีต่อการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ”
2. ด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และการประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และ การดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
6. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ 7. การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ