TRUE-DTAC ดีลแสนล้าน โบรกเกอร์วิเคราะห์ ความเป็นไปได้ 3 ทาง

ทรู ดีแทค

บล.กสิกรไทย วิเคราะห์ดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” ควบกิจการ กาง 3 สมมติฐาน 3 ระดับราคา ดันธุรกิจผงาดเบอร์ 1 กิจการสื่อสารโทรคมนาคม กุมพอร์ตลูกค้า 49 ล้านราย ย้ำขณะนี้ยังเป็นเพียงข่าวลือ-ไม่แนะนำซื้อขาย

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกระแสข่าวบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จะเข้าซื้อกิจการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC นั้น ขณะนี้ยังเป็นแค่ข่าวลือ โดยจุดยืนของกสิกรฯ ไม่แนะนำให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นบนข่าวลือ

ปัจจุบันกสิกรฯแนะนำ “ขาย” หุ้น DTAC ราคาเป้าหมายปี 65 อยู่ที่ 36.47 บาทและแนะนำ “ถือ” หุ้น TRUE ราคาเป้าหมายปี 65 อยู่ที่ 4.23 บาท

ความเป็นไปได้ 3 แนวทาง

อย่างไรก็ดี หากมีการประกาศซื้อกิจการเกิดขึ้นจริง จะแนะนำให้นักลงทุน “ซื้อ” หุ้น DTAC มากกว่าหุ้น TRUE โดยมีความเป็นไปได้ใน  3 ทาง คือ 1.กรณีซื้อขาดจะดีกับ DTAC 2.กรณีควบรวมจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝั่ง และ 3.กรณีไม่เกิดดีลขึ้น DTAC ยังมีกำไรและปันผลปีละ 5% (ในขณะที่ TRUE จ่ายปันผลแค่ปีละ 1%)

“เราประเมินทั้ง 3 ทางแล้ว ตัวที่ให้ pay-off เทียบกับความเสี่ยงแล้วดีที่สุดนั่นคือ DTAC” นายพิสุทธิ์กล่าว

จับตาเปลี่ยนเกมตลาด

นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า หากรวมกิจการ ผู้เล่นหลักในตลาดจาก 3 ราย จะเหลือแค่ 2 ราย ฉะนั้น จะเปลี่ยนจากตลาดผู้ซื้อเป็นตลาดผู้ขาย ผู้ประกอบการจะได้เปรียบเพราะมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าสภาพการแข่งขันจะดีขึ้นด้วย 3 เหตุผลด้วยกันคือ 1.ทั้งสองราย(บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(AIS) และบริษัทใหม่ที่ TRUE+DTAC ควบรวมกัน) ซึ่งจะมีคลื่นพอๆ กัน 2.มีฐานรายได้พอๆ กัน และ 3.มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทยด้วยกันน่าจะทำให้การพูดคุยกันง่ายกว่า
ดังนั้นการควบรวมกันถ้าเกิดได้โดยไม่ติดขัดเรื่องกฎระเบียบและกฎหมาย และราคาการแลกหุ้นไม่ได้แพงจนเกินไป เชื่อว่าจะดีกับทั้งอุตสาหกรรมฯ ในแง่ของรายได้ และในแง่ของบริษัทที่ควบรวมกันจะมีผลดีอื่นประกอบด้วย

ควบรวมหนุน ลดต้นทุน “สาขา-ค่าการตลาด”

นายพิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า นั่นคือความสามารถในการลดต้นทุน เพราะช้อปสาขาจะหายไปจากเดิม 1 ห้าง ต้องมี 2 ช้อป และจำนวนเงินลงทุนของเน็ตเวิร์คก็จะลดลง เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนสองเน็ตเวิร์ค และค่าการตลาดก็จะลดลงเพราะไม่ต้องทำ 2 แบรนด์ และพนักงงานลดลง จึงทำให้มีโอกาสต้นทุนจะประหยัด ซึ่งประเด็นนี้ AIS จะไม่ได้ประโยชน์

จ่อปรับมุมมอง “Overweight” กลุ่มหุ้นไอซีที

และสุดท้ายคือเรื่องมูลค่าหุ้น(Valuation) เพราะปัจจุบันนักลงทุนให้มูลค่าหุ้นกลุ่มไอซีทีบนโครงสร้างตลาดที่มีผู้เล่น 3 ราย แต่เมื่อผู้เล่นลดลงนักลงทุนจะให้พรีเมียมเพิ่ม หมายความว่าจากเดิมที่ยอมซื้อหุ้นกลุ่มนี้ที่อัตราส่วนราคาต่อกำไร(P/E) ที่ 15 เท่า หรือระดับมูลค่าความถูกแพงของกิจการ (EV Per EBITDA) ที่ 7 เท่า จะยอมจ่ายที่ PE ที่ 20 เท่า และ EV Per EBITDA ที่ 9 เท่า ดังนั้นราคาหุ้นจะส่วนเพิ่ม

ทั้งนี้เนื่องจากกสิกรฯ เพิ่งดาวน์เกรดกลุ่มหุ้นไอซีทีลง จาก Overweight (เพิ่มน้ำหนักการลงทุน) เป็นระดับ Neural (คงน้ำหนักการลงทุน) แต่อย่างไรก็ดีถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริง มีแผนจะปรับมุมมองกลับไปที่ Overweight

กุมพอร์ตลูกค้า 49 ล้าน ขึ้นแท่นเบอร์ 1

นายพิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลลูกค้าปี 2563 ทาง AIS มีฐานลูกค้า 41 ล้านราย 2.TRUE มีฐานลูกค้า 31 ล้านราย 3.DTAC มีฐานลูกค้า 19 ล้านราย ดังนั้นเมื่อรวมฐานลูกค้าทั้งหมดจะเป็น 49 ล้านราย ขึ้นแท่นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 1

กาง 3 แนวทางดีลแสนล้าน

โดยกสิกรฯได้ทำสมมุติฐานหาก TRUE มีกาารซื้อ DTAC แบ่งออกเป็น 3 ระดับราคา คือ
1.ราคา 42 บาทต่อหุ้น สัดส่วนหุ้น 100% EV Per EBITDA ที่ 6 เท่า ประเมินมูลค่า 1 แสนล้านบาท
2.ราคา 48 บาทต่อหุ้น สัดส่วนหุ้น 100% EV Per EBITDA ที่ 6.5 เท่า ประเมินมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท
3.ราคา 55 บาทต่อหุ้น สัดส่วนหุ้น 100% EV Per EBITDA ที่ 7 เท่า ประเมินมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท

ซึ่งลักษณะดีลทำได้ 2 รูปแบบคือ ซื้อกิจการและควบรวมกิจการ โดยถ้าซื้อที่ราคา 42 บาท แน่นอนว่าราคาหุ้น DTAC จะวิ่งเข้าหาที่ราคา 42 บาท (ปิดตลาดวันศุกร์ที่ 19 พ.ย.64 อยู่ที่ราคา 41.25 บาท) และราคาหุ้น TRUE จะวิ่งเข้าหาที่ราคา 5 บาท (ปิดตลาดวันศุกร์ที่ 19 พ.ย.64 อยู่ที่ราคา 4.32 บาท) แต่ถ้าซื้อที่ราคา 55 บาท ราคาหุ้น DTAC จะวิ่งเข้าหาที่ราคา 55 บาท แต่ราคาหุ้น TRUE จะวิ่งเข้าหาที่ราคา 4.70 บาท สะท้อนว่าถ้าทรูซื้อถูกมูลค่าหุ้น TRUE จะมาก แต่ถ้าซื้อแพงมูลค่าส่วนเพิ่มจะน้อย