เศรษฐกิจไทย “เครื่องยนต์เก่า-ตลาดเก่า” ต้องสปีดปรับโครงสร้างก่อน…ตกรถ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนสุดท้ายของซีรีส์สัมภาษณ์พิเศษ 3 นักเศรษฐศาสตร์ไฟแรงจาก 3 สำนัก ที่มาวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ความเสี่ยงและความท้าทาย รวมถึงข้อเสนอแนะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อที่จะไม่ให้ “ตกรถ”

ศก.ไทย “เครื่องยนต์เก่า-ตลาดเก่า”

ดร.สมประวิณฉายภาพว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี’65 ถือว่าอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวช้ากว่าคนอื่น ขณะที่โลกกำลังฟื้นกลับไปที่เดิมและสูงขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นไซเคิลกำลังขึ้น แต่ประเทศไทยจะพื้นช้ากว่าจะกลับไปที่เดิมได้ แต่จะไปต่อได้แค่ไหนยังเป็นประเด็นที่ต้องพูดกัน

ปัญหาสำคัญคือ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (growth engine) ยังคงเป็นตัวเดิม สินค้าและบริการยังเหมือนเดิม เช่น การส่งออกสินค้ายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม การท่องเที่ยวที่หวังจะกลับมาก็ยังเป็นการท่องเที่ยวแบบเดิม ยังเป็นตลาดเดิม ผู้ประกอบการหรือกระบวนการผลิตก็ยังเป็นกลุ่มเดิม แบบเดิม ดังนั้นถึงแม้จะเติบโตขึ้นในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพยังมีโจทย์ที่ต้องจัดการ

“สิ่งที่กังวลคือ เศรษฐกิจภายในประเทศ ระยะสั้นฟื้นตัวไม่ทัน และระยะยาวจะตกรถ เพราะวันนี้หลายประเทศวางแผนเรื่องการลงทุนเศรษฐกิจใหม่ แต่เมืองไทยยังผลิตสินค้าเดิม ๆ เพราะเรากลัวเสียลูกค้าเดิม ขณะที่ลูกค้าในอดีตกับลูกค้าในอนาคตไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่เปลี่ยน ไม่ปรับ กลัวว่าประเทศไทยจะตกรถ เหมือนกรณีการลงทุนทีวีจอแบนไม่มาเมืองไทย ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทีวีของไทยตายไปกับทีวีจอตู้”

เศรษฐกิจปี’65 อยู่ที่ “การลงทุน”

ดร.สมประวิณมองว่า ส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ปัญหาคือเป็นเครื่องยนต์เก่า ขณะที่ภาคท่องเที่ยวที่เป็นความหวังหลังเปิดประเทศก็ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว ที่สำคัญ อย่าหวังแค่นักท่องเที่ยว แต่ต้องดึงกลุ่ม business traveller เข้ามาด้วย วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ปีหน้าต่างชาติจะเข้ามา 5 ล้านคน ซึ่งยังห่างไกลกับก่อนโควิด-19 แต่ประเด็นสำคัญคือ ที่เข้ามาเป็น “ใคร” ถ้าเป็นนักเดินทางเพื่อธุรกิจจะดีมาก เพราะจะก่อให้เกิดธุรกิจตามมาอีก ไม่ใช่แค่ตัวเงินที่เกิดจากการเดินทาง ขณะที่ทั่วโลกเริ่มขยับเรื่องการลงทุน

ธีมเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นเรื่อง “การลงทุน” เศรษฐกิจโลกฟื้นส่งผลให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น คนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ภาคธุรกิจเริ่มคิดเรื่องการลงทุนมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ได้อานิสงส์ เพราะอยู่ในซัพพลายเชนการผลิตโลก

“เศรษฐกิจโลกฟื้น มีดีมานด์แน่นอน แต่การลงทุนอาจจะช้า เพราะมีหลายปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องดูว่าจะลงทุนอะไร จะเลือกลงทุนที่ไหน เพราะวันนี้สินค้าและบริการกำลังปรับเปลี่ยนรวดเร็ว อย่างค่ายรถยนต์ถ้ากำลังการผลิตอาจจะเต็ม ผู้ประกอบการก็อยากลงทุนเพิ่ม แต่ก็ต้องศึกษาว่าจะผลิตอะไร รถยนต์สันดาป หรือรถอีวี ต้องดูเทรนด์ในอนาคต”

ลงทุนไทยจะเป็นแบบไหน

ดร.สมประวิณกล่าวว่า การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.การขยายการผลิตบน “ซัพพลายเชนเดิม” เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้น ส่งออกโต กำลังการผลิตเต็ม ทำให้ต้องขยายการลงทุน แต่เป็นในกลุ่มสินค้าประเภทเดิม ซึ่งตรงนี้ไทยได้ประโยชน์อยู่แล้ว แต่จะเป็นประโยชน์ในระยะสั้นและกลาง

และ 2.เทรนด์การลงทุนเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสร้างซัพพลายเชนสินค้าใหม่ในอนาคต อย่างการลงทุนรถอีวี ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เพราะอาเซียนไม่ได้มีแค่ประเทศไทย และทุกคนมีทั้งดีมานด์ ซัพพลาย และกำลังการผลิต

“การลงทุนจะเป็นธีมสำคัญ แต่จะต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นการลงทุนใหม่ หรือเป็นการลงทุนในกิจกรรมแบบเก่า ๆ ถ้าลงทุนในกิจกรรมเก่า ผลที่ได้ก็แป๊บเดียว แต่ถ้าลงทุนในกิจกรรมใหม่ จะเป็นคลื่นลูกใหม่”

นโยบายการเงินการคลัง “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

ดร.สมประวิณมองว่า สัญญาณอันตราย หรือสิ่งที่เราต้องระวังคือ “เราฟื้นไม่ทันคนอื่น และเราจนกว่าคนอื่นด้วย” อันนี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ยิ่งถ่างมากขึ้น

ขณะที่ช่องว่างการทำนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะยิ่งยากขึ้น เพราะตอนนี้เศรษฐกิจโลกฟื้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ขณะที่ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ประเทศไทยลำบาก

นโยบายการเงินการคลังอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เงินเฟ้อกำลังมา การทำนโยบายจะมีข้อจำกัดและท้าทายมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ใช้นโยบายกระตุ้นอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเศรษฐกิจยังไม่ดี ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่นโยบายการคลังจะยิ่งแคบ จำเป็นต้องมีมาตรการซับซิไดซ์ด้วย

รีด “ภาษีทรัพย์สิน” เพิ่มพื้นที่การคลัง

ดร.สมประวิณกล่าวว่า จากที่พื้นที่นโยบายการคลังมีจำกัด สิ่งสำคัญที่ทำได้คือเรื่องการขยายฐานภาษี แต่ไม่ใช่ภาษีที่มาจากฐานรายได้ (income based) แต่ควรที่จะพิจารณาเพิ่มจัดเก็บภาษีที่เป็นฐานจากสินทรัพย์ (asset based) ทบทวนอัตราจัดเก็บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีมรดก เป็นต้น

เพราะการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ปัจจุบันก็เก็บได้แค่ล้านกว่าคน เพราะทุกคนออกนอกระบบหมด ส่วนที่มีการพูดถึงการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนตัวมองว่าแวตไม่ได้ผูกกับว่าใครจนใครรวย แต่จะกระทบกำลังซื้อคนทุกระดับ เราต้องมองเรื่องการเพิ่มอัตราภาษีจากสินทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“อย่างไรก็ดี ก่อนจะเพิ่มภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก ง่าย ๆ เอาโครงการช้อปดีมีคืน มากระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มเศรษฐีให้ใช้ลดหย่อนภาษีเยอะ ๆ คือกระตุ้นให้เศรษฐีจ่ายเงินซื้อ แต่ต้องดีไซน์ว่าให้ใช้จ่ายประเภทไหน ต้องดูว่าสุดท้ายแล้ว ผู้รับเงินคือใคร ต้องเน้นธุรกิจท่องเที่ยวบริการ เช่น สปา ร้านอาหาร และอย่าเสียน้อยเสียยาก เพราะจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ”

จี้วางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศ

ดร.สมประวิณกล่าวว่า ช่วง 1-2 ปีหลังจากนี้ สิ่งสำคัญที่ไทยต้องทำคือ วางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในประเทศและบนเวทีโลก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยยังคงต้องพึ่งพิงต่างประเทศ แต่การพึ่งพิงหรือเลือกคบเพื่อนจะต้องมียุทธศาสตร์

วันนี้ประเทศยักษ์ใหญ่แย่งทรัพยากรกันผ่านภูมิรัฐศาสตร์โลก (geopolitics) ดังนั้น ไทยควรทำนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนการผลิตโลก การจับมือพันธมิตรเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การเข้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ไม่ใช่เรื่องการเข้าสู่ตลาด (market access) หรือเข้าไปขายอย่างเดียว แต่เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมการผลิตในซัพพลายเชน เพราะการผลิตทำให้คนไทยได้มีอาชีพ แต่การที่ไทยจับมือ FTA การค้าเสรี ซึ่งเป็นเรื่องของการเข้าสู่ตลาดเท่านั้น

ห่วงไทยไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้าง

ดร.สมประวิณทิ้งท้ายว่า อย่าคิดว่าเปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจฟื้น ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะโลกหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิม เปิดประเทศแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นกับว่าทำตัวเองยังไง วางโครงสร้างพื้นฐานยังไง ถ้าไม่ได้ทำ ไม่ได้ปรับอะไรเลยก็คงไม่ดีขึ้น ประเทศไทยอาจกลับไปที่เดิมได้ แต่จะดีขึ้นมั้ย ขึ้นอยู่กับว่ามีนโยบายต่อเนื่อง “เยียวยา-ฟื้นฟู และปรับตัว” หรือเปล่า ซึ่งวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการพูดถึงนโยบาย “ปรับตัว” เลย เพราะเพิ่งเริ่มฟื้นฟู

“สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือ วันที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ส่งออกดีขึ้น ท่องเที่ยวเริ่มฟื้น ทุกคนก็ร่าเริง ก็ลืมโจทย์ปัญหาโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำก็ถ่างขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะคนรวยฟื้นเร็ว แต่คนจนยังไม่ฟื้น ฝนตกหลังคารั่วยังไม่ได้ซ่อม แดดออกก็ดีใจ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเป็นรูมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่เราไม่เคยอุดเลย”

ถอดรหัสเศรษฐกิจไทยปี 2565 ตอนที่ 1: เศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤต แต่คนไทยส่วนใหญ่กำลังวิกฤต

ถอดรหัสเศรษฐกิจไทยปี 2565 ตอนที่ 2: รอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปี 2565 ต้นทุนธุรกิจชีวิตเพิ่ม-เงินเฟ้อสูงทำร้ายคนจน