เศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤต แต่คนไทยส่วนใหญ่กำลังวิกฤต

หลังจากที่ทั้งโลกและประเทศไทยตกอยู่ในวังวนวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดแล้วเมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำเสนอซีรีส์สัมภาษณ์ 3 นักเศรษฐศาสตร์ไฟแรง จาก 3 สำนักมาวิเคราะห์แนวโน้มและเส้นทางวิบากเศรษฐกิจไทย

ประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ฉบับนี้เริ่มต้นด้วย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า ถ้าดูจากเศรษฐกิจไทยปีที่แล้วติดลบ -6.1% ปีนี้คาดว่าน่าจะโตได้ 0.5-0.7% น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่หดตัวลงมา

เครื่องยนต์ “ท่องเที่ยว” ตัวแปร

ปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นกลับมามีนัยสำคัญมากขึ้น ตัวแปรสำคัญคือ “การท่องเที่ยว” หลังจากทั่วโลกฉีดวัคซีนได้เยอะ เมืองไทยถึงสิ้นปีก็น่าจะได้สัก 60% ของประชากร และปีหน้าจะทยอยดีขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้การท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

แต่ไม่ได้แปลว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา 39-40 ล้านคนเหมือนเมื่อปี’62

“เราประมาณว่าปีหน้านักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 5.8 ล้านคน และจีดีพีไทยน่าจะโตได้ 3.9% ในปีหน้า แต่ท่องเที่ยวเป็นตัวแปรเศรษฐกิจที่มีความแกว่งมาก เพราะเราเปิดประเทศแต่ต่างชาติจะมาหรือเปล่ายังไม่รู้”

ขณะที่ความมั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึง 5.8 ล้านคนก็ยังน้อยมาก และถ้าเกิดระบาดระลอกใหม่ ปีหน้าก็อาจเห็นจีดีพีไทยโตแค่ 2-2% กว่า จะเป็นการโตช้าอีกปี

การเปิดประเทศเหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ เพราะการเดินทางระหว่างประเทศยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทย คือ “จีน” ที่มีสัดส่วน 28-29% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย เชื่อว่าปีหน้าทั้งปีคนจีนไม่น่าจะออกมาเพราะนโยบายของทางการที่ยังควบคุมการเดินทาง

3 สัญญาณอันตรายปี’65

ดร.พิพัฒน์วิเคราะห์ว่า ประเด็นสำคัญเศรษฐกิจปีหน้ามี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.เรื่องสุขภาพ ว่าประเทศไทยจะสามารถคุมโรคระบาดได้มากแค่ไหน ซึ่งจากการเร่งฉีดวัคซีนที่เร็วขึ้น ตรวจ ATK รวมถึงต่างประเทศเริ่มมียารักษาออกมา ก็จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้

2.เศรษฐกิจโลก เชื่อว่าค่อย ๆ ฟื้นแต่มีจุดเสี่ยงสำคัญ คือ “เศรษฐกิจจีน” จากกรณีเอเวอร์แกรนด์รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ของจีนเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนคิดเป็นราว 30% ของจีดีพี

ถ้าจัดการไม่ดีจะมีความเสี่ยงการหยุดชะงัก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างหนักได้ รวมถึงปัญหาขาดแคลนพลังงานและเรื่องโควิด-19 ที่จีนพยายามใช้นโยบาย zero COVID-19

“เรามองเศรษฐกิจจีนน่าจะโตประมาณ 4% ชะลอตัวจากปีนี้ที่โต 6-7% แต่กรณีมีความเสี่ยงรุนแรงจีดีพีอาจเหลือโตแค่ 2% ก็จะเกิด recession ในจีน”

ขณะที่ประเทศไทยส่งออกไปจีนประมาณ 13-14% ดังนั้น ความเสี่ยงส่งออกไทยก็มากขึ้น ทั้งที่ควรจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญการฟื้นตัว

ข้อ 3.ความเสี่ยงที่กังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ “เงินเฟ้อ” โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาข้อจำกัดด้านซัพพลายที่ทำให้เงินเฟ้อโลกขยับ โดยเฉพาะราคาน้ำมันขยับขึ้นค่อนข้างสูง ซึ่งกระทบเงินเฟ้อในเมืองไทยเช่นกัน ที่กลายเป็นต้นทุนผู้บริโภค ทำให้เงินที่จะไปซื้ออย่างอื่นก็จะลดลง

คือมีปัญหาทั้ง “ผู้บริโภค” จะมีกำลังซื้อลดลง และ “ผู้ประกอบการ” ก็จะมีปัญหาเหมือนกันเพราะเศรษฐกิจไทยที่ค่อย ๆ ฟื้นมาเจอต้นทุนแพงขึ้น ก็มีปัญหาจะส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้หรือไม่ ก็เป็นความเสี่ยง

ปีหน้าเป็นความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจยังไม่ดี จะทำอย่างไรกับนโยบายการเงิน เป็นความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลก

ครึ่งแรกปี’65 เศรษฐกิจ “ป๊อกแป๊ก”

ดร.พิพัฒน์มองว่า ในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบแผ่ว ๆ เพราะนักท่องเที่ยวยังมาไม่มาก ดังนั้น ครึ่งปีแรกคงยังป๊อกแป๊ก และถ้าครึ่งปีหลังนักท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น ก็จะยิ่งกระหน่ำความเสี่ยงของเศรษฐกิจ

ปีหน้า “ท่องเที่ยว” จะมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญจากเดิมที่เครื่องยนต์นี้ดับไปเลย มาเริ่มสตาร์ตติดช้า ๆ ขณะที่ “ส่งออก” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ทำงานอยู่ปีนี้ และน่าจะทำงานได้ต่อ แต่ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหรือเศรษฐกิจจีนกระทบเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว ถ้าเจอปัญหาแบบนี้ส่งออกก็ไม่น่าเร่งตัวขึ้น

อีกความหวัง คือ การลงทุนภาครัฐที่จะมาช่วยเสริม แต่ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท สำหรับเยียวยา-กระตุ้นและฟื้นฟู แต่ที่สุดเป็นงบฯฟื้นฟูเพื่อลงทุนไม่ถึง 1 แสนล้าน เพราะการเบิกจ่ายช้าทำให้การลงทุนช้า ต้องทำอย่างไรที่จะหาโปรเจ็กต์และลงทุนให้ถูกจุด และสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจให้ได้เยอะสุด

ปีหน้าต้องเร่งมาตรการ “ซ่อมสร้าง”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า มาตรการสำคัญในปีหน้า ถ้าให้ดีควรจะเป็นมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทย คือ “ต้องซ่อมต้องสร้างอะไรบ้าง”

“ขณะที่การกระตุ้นการบริโภคก็ยังจำเป็น เพราะคิดว่าภาพการฟื้นตัวจะเป็นแบบ uncertain (ไม่แน่นอน) และ Uneven (ไม่สม่ำเสมอ) คือเราคิดว่าน่าจะฟื้นแต่ไม่รู้จะฟื้นจริงหรือเปล่า และ Uneven จะเป็นการฟื้นตัวแบบตัว K ฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียม

K ขาบน คือ กลุ่มคนที่ WFH ได้มีรายได้เยอะ และมีเงินออมเหลือมาก ไม่ได้ออกจากบ้าน ไม่ได้เติมน้ำมัน ไม่ได้กินข้าวนอกบ้าน ไม่ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น กลุ่มนี้มีความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น”

แต่อีกฝั่งคนจำนวนมากที่รายได้ย่ำแย่เพราะว่าตกงาน ขาดรายได้ อยู่ในอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว มีปัญหาหนี้

“ถ้าปีหน้านักท่องเที่ยวกลับมาไม่ถึง 1 ใน 4 ของเดิม การใช้แรงงานก็ไม่กลับไปที่เดิมแน่ ๆ ดังนั้น income shock ยังมีอยู่ จีดีพีไทยก็อยู่ระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 กลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่ต้องซ่อม balance sheet ตัวเอง”

ดังนั้น ต้องมีการกระตุ้นเพื่อกลุ่ม K ขาบนออกมาใช้ตังค์กัน ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยเยียวยาในกลุ่มที่มีปัญหารายได้ ซึ่งรัฐบาลคงดูอยู่ และมาตรการก็คงคล้ายกับที่ทำมา ไม่ว่าจะเป็นไทยเที่ยวไทย เราเที่ยวด้วยกัน หรือว่าคนละครึ่ง

และอีกเรื่องที่มีความจำเป็นต้องซ่อมสร้าง คือ “การศึกษา” เชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมากระหว่างเกิดโควิด-19 จะทำยังไงไม่ให้เกิด gap year ในการศึกษา ความพร้อมของเด็กลดลงมาค่อนข้างมาก

“นอกจากนี้ เรื่องทักษะการทำงานของคนก่อนโควิด-19 หลังจากไฟไหม้บ้านไป 2 ปี เปิดมาสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ถ้าทำอย่างเดิมเราอาจจะแข่งกับเขาไม่ได้แล้ว”

ศก.ไม่ได้วิกฤตแต่คนส่วนใหญ่อยู่ในวิกฤต

ดร.พิพัฒน์สรุปว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ภาวะวิกฤตแล้ว แต่อยู่ในภาวะโตช้า ส่วนที่เศรษฐกิจจะกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 เชื่อว่าต้องรอไปถึงปี 2566

“แต่แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในวิกฤต แต่มีคนส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จากที่โดนกระทบทำให้รายได้ไม่กลับมาเลย”

คำถามคือคนกลุ่มนั้นจะอยู่อย่างไร ในเมื่อรายได้ที่ยังไม่กลับไปเหมือน 2 ปีที่แล้ว