ของขวัญปีใหม่สูญภาษี 1.3 หมื่นล้าน เทกระจาดช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง

ครม.ออกกฎหมายใหม่ 9 ฉบับ เฉือนเนื้อรายได้รัฐ 13,221 ล้านบาท เทกระจาดมาตรการลด-แจกภาษี ยกเว้นสารพัดค่าธรรมเนียม ผ่านโครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30,000 บาท ซื้อสินค้าตั้งแต่ปีใหม่-ตรุษจีน คนละครึ่งเฟส 4 เริ่มลงทะเบียน มี.ค.2565

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปี 2565 หรือมาตรการของขวัญปีใหม่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พร้อมด้วยทีมผู้บริหารกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ร่วมกันแถลงดังนี้

นายอาคมกล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการช้อปดีมีคืน โดยให้นำรายจ่ายการซื้อสินค้าและบริการมาหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2565 จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) มูลค่า 6,200 ล้านบาท แต่คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 42,000 ล้านบาท ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.12% และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากขึ้น

2.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565-31 ธ.ค. 2565 ให้ผู้ประกอบการรายเดิม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และต้องการขออนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไป คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 800,000 ราย คิดเป็นใบอนุญาต 1.4 ล้านใบ โดยรัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม 380 ล้านบาท

3.มาตรการขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน อัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2565 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน ให้สามารถฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวในปี’65 ธุรกิจสายการบินจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ราว 50% ของการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ซึ่งมาตรการดังกล่าว คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 860 ล้านบาท

4.มาตรการขยายระยะเวลา การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระที่ต้องการมีอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดจำนอง จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนออกไปอีก 1 ปี ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2565 คาดว่าจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ 4,946 ล้านบาท

5.มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ที่เป็นสถาบันการเงิน โดยขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2569 ซึ่งคาดว่ามาตรการด้านภาษี จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 7,000 ล้านบาทต่อปี และมาตรการค่าธรรมเนียม รัฐสูญเสียรายได้ 835 ล้านบาท

6.โครงการของขวัญปีใหม่ ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการโดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง และเป็นทุนหมุนเวียน

การคืนเงินให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ที่มีประวัติการชำระดี รางวัลพิเศษสำหรับลูกค้าออมสิน การยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญา ส่วนลดค่าบริการ และค่างวด สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อเป็นต้น ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุดรวม 7.43 ล้านบาท

ทั้งนี้ การออกมาตรการทั้ง 6 มาตรการ จะต้องออกกฎหมายรวม 9 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ก. 1 ฉบับ ร่างกฎกระทรวงการคลัง 4 ฉบับ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย 4 ฉบับ

คนละครึ่งเฟส 4 เริ่ม มี.ค.65

สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 นี้ จะมีการขยายมาตรการโครงการคนละครึ่งเฟส 4 เริ่มดำเนินการในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2565 หลังสิ้นสุดโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โดยจะใช้วงเงินคงเหลือคนละครึ่ง เฟส 3 ไปใช้ดำเนินการคนละครึ่งเฟส 4