ประกันผวา “โอไมครอน” เสี่ยงดันเคลมโควิดทะลุแสนล้าน

ประกันโควิด

หลังจากเชื้อโรคร้าย “โควิด-19” สร้างผลกระทบกับทั่วโลกมาร่วม 2 ปีแล้ว ล่าสุดก็เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า “โอไมครอน” ซึ่งขณะนี้มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เชื้อกลายพันธุ์นี้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีน ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพต้านทานการติดเชื้อลดลง

และยังแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า โดยใช้เวลาเพียงแค่ 20 วัน (ช่วงวันที่ 24 พ.ย.-14 ธ.ค. 2564) แพร่กระจายไปอย่างน้อย 77 ประเทศที่มีการตรวจยืนยันผู้ติดเชื้อแล้ว

ซึ่งแน่นอนว่า จะกระทบโดยตรงต่อกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ที่สถานะยังมีความคุ้มครองผู้เอาประกันอยู่อีกกว่า 7 ล้านกรมธรรม์ หลังจากที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลต้าก็ทำให้บริษัทประกันต้องปิดตัวไปแล้วถึง 2 บริษัทด้วยกัน

ห่วง “โอไมครอน” ระบาดเร็ว

ล่าสุด นักวิจัยของบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า โอไมครอนสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดลต้าประมาณ 3-4 เท่า

และมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ถึง 5.4 เท่า เห็นได้จากการระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เช่น สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, อิตาลี, นอร์เวย์, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์ เป็นต้น

ซึ่งมีสัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนครบโดสมากถึงเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ส่วนไทยมีผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 72% แบ่งเป็น ผู้ฉีดวัคซีนครบโดส 63% และยังไม่ครบโดส 9% (ณ 18 ธ.ค. 2564)

นอกจากนี้ พบว่า กว่า 40 ประเทศได้ออกมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาด ห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางจากประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเข้าประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง รวมถึงไทย

ขณะที่อิสราเอลและญี่ปุ่นประกาศปิดประเทศ และหลายเมืองก็ประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง เช่น กรุงลอนดอน เป็นต้น สำหรับไทยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ยกระดับมาตรการป้องกัน โดยให้เลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ test & go ไปก่อน คงเหลือรูปแบบ sandbox และมาตรการกักตัวเพื่อป้องกันการระบาด

ผวาเคลมโควิดทะลุแสนล้าน

รายงานยังระบุว่า ก่อนหน้านี้ โควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างมาก โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2564 ธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมประกันภัยโควิดราว 40,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นประเภท “เจอจ่ายจบ” สูงถึง 34,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่่ผ่านมา ผู้มีประกันภัยโควิด มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 3.8% และยิ่งไปกว่านั้น กรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” มีอัตราการติดเชื้อของผู้มีประกันโควิดในระดับสูงอยู่ที่ 4.2% และยังคงให้ความคุ้มครองไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2565 จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยอาจจะต้องแบกรับค่าสินไหมทดแทนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจากการระบาดในรอบผ่านมา ๆ หลายเท่าตัว

“จากการประมาณการ พบว่า หากมีการระบาดโควิดโอไมครอน ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด อาจสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบเป็นหลัก” รายงานระบุ

เปิดผลวิจัยกรณีระบาด “รุนแรง”

โดยผู้วิจัยได้ประมาณค่าสินไหม กรณีอัตราการติดเชื้อของผู้มีประกันโควิดโดยรวมเพิ่มขึ้น จาก 3.8% เป็น 4.2% เท่ากับอัตราการติดเชื้อของผู้ถือกรมธรรม์เจอจ่ายจบของบริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นท็อป 5 ของบริษัทที่รับประกันเจอจ่ายจบ

กรณีที่ 1 สามารถเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ผู้ป่วยที่เข้า home isolation และ community isolation เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันได้

ประมาณการค่าสินไหมกรณีนี้จะอยู่ระหว่าง 134,726-179,634 ล้านบาท อัตราการระบาดเทียบเดลต้าคิดเป็น 300-400% เป็นค่าสินไหมเจอจ่ายจบ 112,737-150,316 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาล/โคม่า/ค่าชดเชยรายวัน 21,989-29,319 ล้านบาท

กรณีที่ 2 จำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล มีอยู่อย่างจำกัดโดยเท่ากับช่วงระบาดของเดลต้า และสำนักงาน คปภ.ไม่ออกคำสั่งนายทะเบียนให้ผู้ป่วยที่เข้า home isolation

และ community isolation เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันได้กรณีนี้ประมาณการค่าสินไหมจะอยู่ระหว่าง 120,529-158,108 ล้านบาท อัตราการระบาดเทียบเดลต้าคิดเป็น 300-400% เป็นค่าสินไหมเจอจ่ายจบ 112,737-150,316 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาล/โคม่า/ค่าชดเชยรายวัน 7,792-7,792 ล้านบาท (ดูตาราง)

หวั่นประกันเจ๊ง-ปิดกิจการเพิ่ม

“อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า หากการระบาดของโอไมครอนรุนแรงเป็นไปตามสถิติในงานวิจัยข้างต้น และผู้ติดเชื้อกลับไปสูงระดับหลายหมื่นรายต่อวันอีก

อาจจะได้เห็นบริษัทประกันวินาศภัยที่ยังมีความคุ้มครองประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” อยู่ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพิ่มอีกได้ เพียงแต่ขณะนี้ ภาพยังไม่ชัดเจน แต่ถือเป็นตัวแปรสำคัญมาก

“ปัจจุบันกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบ ยังเหลือความคุ้มครองอีกกว่า 7 ล้านกรมธรรม์ กว่าจะหมดความคุ้มครองประมาณสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 จึงยังน่าเป็นห่วงมากต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าว

ทั้งนี้ แม้ผลวิจัยข้างต้นจะเป็นการประมาณการ แต่ทุกฝ่ายก็ต้องไม่ประมาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องนำบทเรียนที่ผ่านมา มาเตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะตามมา