เปิด 4 ปัจจัยทำเศรษฐกิจไทยสะดุด ธปท. มั่นใจมาตรการยังรับมือไหว

โควิด

ธปท.เกาะติด 4 ปัจจัยความเสี่ยงทำเศรษฐกิจไทยสะดุด “โอมิครอน-เงินเฟ้อ-หนี้เสีย-เศรษฐกิจโลก” หลังประเมินจีดีพีกลับมาโตสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในไตรมาส 1/66 เชื่อมาตรการเติมสภาพคล่อง-แก้หนี้เดิม-ปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน” เพียงพอและสามารถรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจและโอกาสสะดุดได้

วันที่ 11 มกราคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Meet the Press” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มองว่า การฟื้นตัวยังค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน ในลักษณะ (K-shaped) โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้เท่าก่อนโควิด-19 ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ภายใต้การระบาดของโอมิครอน จะจบเร็วภายในครึ่งแรกของปีนี้ และไม่ลามไปกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ภายใต้บริบทการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบนี้ โจทย์หลักของธปท.คือ จะต้องทำหน้าที่ให้การฟื้นตัวไปได้ต่อเนื่องไม่สะดุด โดยธปท.จะต้องเข้าไปดูโอกาสที่จะสะดุดมาจากตรงไหน และประเมินความเสี่ยงโอกาสจะหลุดอย่างไร ซึ่งพบว่ามาจากความเสี่ยง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.การระบาดของโอมิครอน ซึ่งธปท.ประเมินไว้ว่าจะมาเร็วและไปเร็ว และสามารถจบได้ภายในครึ่งปีแรก ทำให้โอกาสเศรษฐกิจสะดุดไม่มาก เพราะภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจตัวที่ช่วยเยอะจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 5.6 ล้านคน แต่หากโอมิครอนยืดเยื้อและมีการกลายพันธุ์ ทำให้การฟื้นตัวของท่องเที่ยวที่คาดหวังโอกาสที่เศรษฐกิจสะดุดได้

โดยฐานะธปท.จะเตรียมรับมือและเตรียมเครื่องมือที่ให้สถาบันการเงินทำงานได้ปกติที่สุด ไม่มีการตึงตัวของภาพรวมทั้งในส่วนของดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่ธปท.ไม่ต้องการให้เกิด ซึ่งที่ผ่านมาการเติบโตสินเชื่อของระบบการเงินยังค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับในอดีต บริบทใหม่ และประเทศเพื่อนบ้าน

ADVERTISMENT

โดยปัจจุบันสินเชื่อขยายตัว 4-5% เมื่อเทียบอดีตเศรษฐกิจหดตัว สินเชื่อจะหดตัวตาม และเทียบกับเพื่อนบ้านถือว่ายังสูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แม้ว่าไทยจะพึ่งพาการท่องเที่ยว และจีดีพีหดหนักกว่าก็ตาม

“แม้ว่าเราจะเห็นการเติบโต ไม่ใช่ว่าเรานิ่งเฉยหรือพอใจ เพราะการเติบโตยังไม่ไปในจุดที่เราต้องการ และหากดูมาตรการทางการเงินที่ ธปท.ออกไปก่อนหน้านี้ เช่น สินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟูที่มีการปล่อยกู้แล้ว 1.4 แสนล้านบาท หรือพักทรัพย์พักหนี้ที่กว่า 3.7 หมื่นล้านบาท และยังเหลือรูมอีกมาก หรือลูกกระสุน อย่างสินเชื่อฟื้นฟูที่เหลืออีก 1 แสนล้านบาท และพักทรัพย์พักหนี้ที่เหลือวงเงินช่วยเหลืออีกมาก พวกนี้เป็นการวางรากฐานของเครื่องมือต่างๆ เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์สะดุด”

ADVERTISMENT

และอีกอย่างที่สำคัญหากเกิดปัญหาสะดุด คือ การดูแลภาระหนี้เดิม ซึ่งหากเป็นมาตรการพักหนี้จะไม่ตอบโจทย์ ธปท.จึงออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 2564 รวมถึงมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เป็นวิธีที่จะช่วยลดภาระหนี้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งมาตรการเหล่านี้แม้ผลกระทบโอมิครอนจะลากยาว

โดย ธปท.ไม่ได้เน้นออกมาตรการถี่ๆ และบ่อยๆ แต่จะเน้นการติดตามประสิทธิผลของมาตรการให้เกิดขึ้นจริง ปัจจุบันจะเห็นว่าธนาคารได้ทยอยออก Product Program ออกมาบ้างแล้ว

2.อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในไทยในเชิงมหภาคไม่ได้สูงขึ้นเหมือนต่างประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ โดยของเราเป็นการค่อยๆ ขึ้น และปีนี้ธปท.มองว่าจะอยู่ที่ 1.7% และปีหน้าจะอยู่ที่ 1.4% ซึ่งมองว่ายังยืนตามนี้ได้ ไม่มีสัญญาณที่จะต้องปรับขึ้น โดยดูจากราคาที่ยังไม่ได้ขึ้นในวงกว้าง ซึ่งปรับขึ้นเป็นจุดเฉพาะในราคาน้ำมัน-ราคาหมู

ดังนั้น โอกาสที่จะสะดุดจากตรงนี้ไม่มาก แม้ว่าจะเป็นประเด็นในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่หากเงินเฟ้อส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นในวงกว้างกระทบราคา และหลุดกรอบเงินเฟ้อที่ 3% ในแง่นโยบายก็มีไว้รองรับ

3. หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL Cliff มองว่า ตัวเลขยังคงคงต้องเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มค่อยๆ เพิ่ม ไม่ได้เพิ่มแบบพุ่งหรือชันขึ้นรวดเร็ว โอกาสที่จะเห็น Cliff คงไม่เห็น หรือเพิ่มขึ้นจนสะดุดโอกาสน้อย และมาตรการรองรับการสะดุด คือ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 64 ซึ่งตัวนี้เป็นจุดรองรับสำคัญที่วางไว้ และจะเป็นตัวช่วยได้มาก โดยธปท.ทำเป็นเป้าและคุยกับธนาคารรายธนาคาร

นอกจากนี้ ธปท.เตรียมออกมาตรการภายในเดือนนี้ คือ การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัท บริหารสินทรัพย์ (JVAMC) เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาจะถูกดูแล ไม่ถูกทอดทิ้ง และให้โอกาสลูกหนี้ฟื้นกลับมาได้

“ท้ายที่สุดแม้จะเกิดขึ้นเอ็นพีแอลขึ้นมา สิ่งที่ธปท.กังวลจะสะดุดหรือเปล่า แต่สิ่งที่ธปท.มองว่าไม่สะดุดแม้เอ็นพีแอลเพิ่ม คือ ความแข็งแกร่งของแบงก์ ทั้งเรื่องเงินทุนของแบงก์ BIS ทุนสำรองที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้ธปท.มั่นใจว่าสามารถรองรับตรงนี้ได้”

4.ปัจจัยโลก ซึ่งมี 2 เรื่องพูดบ่อย คือ 1.การดำเนินนโยบายการเงินโลก ธนาคารกลางรายใหญ่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพราะอัตราเงินเฟ้อสูง หากดูบริบทต่อผลกระทบต่อไทย มองว่า โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทย สะดุดจากปัจจัยนี้น้อยมาก เนื่องจากหนี้ต่างประเทศน้อยเทียบประเทศอื่น เงินสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง

ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากการท่องเที่ยว และความเปราะบางตลาดการเงินไทยต่อโลกน้อย เพราะนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรสัดส่วนน้อยกว่าประเทศ แม้มีเงินไหลออกก็ไม่ได้มีผลกระทบแรงเหมือนที่อื่น

และ 2.เศรษฐกิจจีน ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะเติบโตด้วยหนี้ และเติบโตในภาคอสังหาริมทรัพย์ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมีโอกาสที่ไทยจะสะดุดไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แม้ว่าไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก แต่การคาดการณ์นักท่องเที่ยวยังคงมาน้อยอยู่แล้ว

“มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็งและยังเปราะบาง โจทย์ธปท.พยายามให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวจะไม่สะดุด เราจึงต้องไปดูโอกาสการสะดุด ซึ่งมาจากไหนก็มาจาก 4 เรื่อง เราก็ได้เตรียมรับมือโอกาสที่จะสะดุด เช่น โอกาสไหนที่จะทำให้สะดุดเยอะ ก็หามาตรการรองรับ หรือบางจุดสะดุดไม่เยอะมาตรการที่มีเพียงพอ โดยเราประเมินสถานการณ์และทำมาตรการรองรับ โดยเน้นให้เกิดปประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่าการออกมาตรการแบบจุดพลุ”