จับตาโฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์หมื่นล้าน กดดันบาทแข็งค่า

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

แบงก์ประเมินค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติด “โอมิครอน-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรป” ด้าน “กรุงไทย” ประเมินโฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์ 1 หมื่นล้านบาทตามการประมูลวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ระบุเห็นเงินบาทขยับแข็งค่าได้ 

วันที่ 16 มกราคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 17-21 มกราคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตลาดรับรู้ไปพอสมควร

โดยหลังจากนี้จะต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน หากไปถึงระดับจุดพีกจะเห็นค่าเงินบาทพลิกกลับด้านมาแข็งค่าได้ ซึ่งในระหว่างนี้จะเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปช่วยซื้อบ้าง เพื่อชะลอการเคลื่อนไหวแข็งค่าเร็วจนเกินไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของยุโรป ซึ่งหากตัวเลขออกมาดี จะช่วยซัพพอร์ตค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น และจะทำให้เงินในสกุลต่างๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ รวมถึงเงินบาทด้วย และตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนทั้งตัวเลขค้าปลีกและการลงทุนของประเทศจีน 

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์หน้าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าเป็นบวกเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร (บอนด์) คาดว่าจะมีเงินไหลเข้าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโฟลว์ไหลเข้าตามการประมูลพันธบัตร ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการประมูลวงเงินราว 3 หมื่นล้านบาท โดยจะเห็นนักลงทุนเข้าซื้อบอน์ดตัวยาวระยะ 5-6 ปี ขณะที่บอนด์ตัวสั้นอาจเห็นแรงเทขายได้ 

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนซื้อสุทธิตลาดหุ้นราว 5,300 ล้านบาท และตลาดบอนด์ซื้อสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท ถือว่าค่อนข้างเยอะ เตื่องจากมีการประมูลบอนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อบอนด์ตัวยาว ส่วนบอนด์ตัวสั้นขายสุทธิราว 400-500 ล้านบาท 

“แฟคเตอร์สัปดาห์หน้าไม่ค่อยมีอะไรมากนัก เพราะตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ซึ่งจะเห็นนักลงทุนส่วนใหญ่เทขายหุ้นเล่นรอบทำกำไร และโฟลว์ที่ไหลเข้าส่วนใหญ่จะเป็นโฟลว์ที่เกิดจากการประมูลบอนด์ โดยรวมแล้วเราจะเห็นโฟลว์เป็นบวกเล็กน้อยในสัปดาห์หน้า”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดจะติดตามข้อมูลภาคการผลิตและยอดขายบ้านในสหรัฐฯ ขณะที่ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังสูงแต่เริ่มมีสัญญาณว่าอาจพีกไปแล้ว และมีแนวโน้มคลายตัวลงชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

“ปัจจัยโควิดเริ่มคลายตัว ขณะที่ประเทศต่างๆ ไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น ซึ่งเป็นบวกต่อ sentiment เงินบาท และหนุนกระแสเงินทุนไหลเข้า นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์หลุดแนวรับทางเทคนิค แม้เฟดจะส่งสัญญาณว่าปีนี้อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้ง และลดขนาดงบดุล แต่ตลาดรับข่าวไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าระหว่างวันค่าเงินยังคงผันผวนต่อเนื่อง โดยในภาพใหญ่นักลงทุนจะประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯในวัฏจักรนี้ จะไปสูงสุดที่ระดับใด”