ธปท.เพิ่มโมเดลรับมือหนี้เสีย AMCหนุนแบงก์ตัวเบา-ดีลร่วมทุนคึกคัก

ธปท.

ธปท.เพิ่มโมเดลรับมือหนี้เสียในระบบพุ่ง-สร้างความมั่นใจดูแลลูกหนี้ จ่อคลอดเกณฑ์เปิดทาง “แบงก์” ร่วมทุน “เอเอ็มซี” ภายใน ม.ค.นี้ ขณะที่ผู้ประกอบการแห่เจรจาเตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนคึกคัก ชี้แนวทางร่วมทุนช่วยสถาบันการเงินตัวเบา “BAM” ประเมินปีนี้แบงก์พาเหรดตัดขายหนี้เสีย 5 หมื่นล้านบาท หลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.

ธปท.เพิ่มโมเดลรับมือหนี้เสีย AMCหนุนแบงก์ตัวเบา-ดีลร่วมทุนคึกคัก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือน ม.ค.นี้ ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์ร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ และบริษัท บริหารสินทรัพย์ (JVAMC) เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาจะได้รับการดูแล ไม่ถูกทอดทิ้ง และให้โอกาสลูกหนี้ฟื้นกลับมาได้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.และสมาคมธนาคารไทยได้พูดคุยกันในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งในส่วนของหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และหนี้ที่มีหลักประกัน โดยใช้กลไกบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งแนวทางที่มีการพูดคุยจะมีอยู่ 2-3 รูปแบบด้วยกัน

ได้แก่ ส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถหาพันธมิตร (partner) เพื่อร่วมทุนตั้งบริษัท หรือ JVAMC เน้นบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล เหมือนกรณีที่ธนาคารกสิกรไทย ร่วมทุนกับบริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด เป็นต้น โดยคาดว่ามีอีกหลายแห่งอยู่ระหว่างพูดคุยกัน

ส่วนหนี้ที่มีหลักประกัน นอกจากตัดขายหนี้ให้กับ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) แล้ว ยังมีข้อเสนอให้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ โดยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ร่วมลงขัน ตามสัดส่วนสินทรัพย์ ซึ่งรูปแบบคล้ายบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) เพื่อนำเอ็นพีแอลออกจากระบบและผลกำไรคืนให้กับผู้ร่วมทุน

“ตอนนี้ มีพูดคุยกันทั้ง ธปท. แบงก์และภาครัฐ เพราะมีเกณฑ์ต้องผ่อนคลายหลายส่วน เช่น ภาษี รวมถึงการให้ธนาคารไปสำรวจพอร์ตสินเชื่อของตัวเอง ว่ามีการชะลอฟ้องร้องไปเท่าไหร่ และพอร์ตที่จะตัดขายมีเท่าไหร่ต้องยอมรับว่ามีธุรกิจที่ไปต่อไม่ไหวจึงต้องหาวิธีโหลดเอ็นพีแอลไปไว้ที่อื่น ซึ่งช่วยให้ตัวเลขหนี้เสียลดลงเร็ว แบงก์ก็ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น แต่คงใช้เวลาอีกสักระยะถึงมีความชัดเจน” แหล่งข่าวกล่าว

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ BAM เจรจาอยู่กับธนาคาร 2 แห่ง โดยมี 1 รายคืบหน้าชัดเจน เหลือรอประกาศ ธปท.ที่จะออกมา ซึ่งในรายละเอียดคงมีการกำหนด เช่น ระยะเวลาการร่วมมือกันที่อาจจะเป็น 15 ปี สัดส่วนการถือหุ้น และผู้ถือหุ้นเป็นใครบ้าง แหล่งเงินทุน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หลัง ธปท.ประกาศเกณฑ์คาดว่าใช้เวลา 3-4 เดือน จึงจะเห็นการจัดตั้งชัดเจน เนื่องจากต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก ธปท. รวมถึงการจัดเตรียมเงินทุนเพื่อจดทะเบียนจดตั้งบริษัท และพัฒนาระบบ โดยคาดว่าจะเริ่มมีการซื้อขายได้จริงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

“แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลทั้งระบบน่าจะมีการตัดขายราว 4-5 หมื่นล้านบาท แต่จะเห็นขายเยอะในช่วงไตรมาส 3-4และเพิ่มสูงในปี 2566 เพราะผลจากมาตรการช่วยเหลือของ ธปท.เริ่มลดลง และแบงก์สามารถยืนได้ มีกำไร ตั้งสำรองลดลง โดย BAM ตั้งเป้ารับซื้อหนี้ปี 2565 ที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ 1 ใน 4 ของยอดที่ออกมาทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพทรัพย์และการแข่งขันในตลาดด้วย” นายบัณฑิตกล่าว

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ SAM กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับธนาคาร เพื่อคุยถึงรายละเอียดการตั้งบริษัทร่วมทุน โดยพิจารณาถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ และพยายามเร่งให้เกิดความร่วมมือเร็วที่สุด ปัจจุบันคุยกับธนาคารพาณิชย์ 1 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFIs) อีก 1 แห่ง ซึ่งมีนโยบายการรับซื้อหนี้ โดยตั้งเป้าเข้าร่วมประมูลมากที่สุด

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งวงเงินรับซื้อหนี้ทั้งไม่มีหลักประกันและมีหลักประกันอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 2564 สามารถรับซื้อได้กว่า 7,000 ล้านบาท โดยหากสถานการณ์โควิด-19 โอมิครอนไม่รุนแรง จนธนาคารต้องมีมาตรการพักหนี้ คาดว่าเอ็นพีแอลจะถูกทยอยขายออกใกล้เคียงหรือน้อยกว่าปีก่อนที่อยู่ราว 1 แสนล้านบาท

“การร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทยเพิ่งจะมีการประชุมบอร์ดทั้งสองฝั่งไป คาดว่าในไตรมาสที่ 1-2 นี้ น่าจะเห็นการจัดตั้งบริษัทได้” นายสุทธิรักษ์กล่าว

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งงบฯรับซื้อหนี้ไว้ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโต 25% โดยราว 1,000 ล้านบาท จะเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน และหนี้มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสิ้นปีจะจบที่ 9 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ไม่มีหลักประกัน 6 หมื่นล้านบาท และหนี้มีหลักประกัน 1.5 หมื่นล้านบาท

“แนวโน้มหนี้เสียขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือ หากมาตรการเบาลงจะเห็นการขายหนี้เสียออกมาเยอะขึ้น ซึ่ง AMC ในตลาดมีมากขึ้น เงินทุนเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันรุนแรง ซึ่งวิธีการตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นวิธีช่วยให้เอ็นพีแอลของแบงก์ลดลงเร็ว การตั้งสำรองก็ลดลง สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น แต่คงไม่เห็นธนาคารทุกแห่งตั้ง JVAMC โดยของเราก็อยู่ระหว่างพูดคุย 2-3 แห่ง” นายสุขสันต์กล่าว