เดิมพันศึก “เจอ จ่าย จบ” บริษัทเจ้าสัวฟ้องเลขาฯ คปภ. 8 พันล้าน

คปภ.+อาคเนย์

การต่อสู้กันในเชิงคดีความระหว่างผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยกับผู้กำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำลังใกล้ถึงจุดชี้ชะตา

โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคู่ความในคดีหมายเลขดำที่ 44/2565 ที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทางบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2 บริษัทประกันในเครือ “เจ้าสัวเจริญ” หรือ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ร่วมกันฟ้องคดีเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 สั่งห้ามบริษัทประกันภัย ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ว่าอาจเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ซึ่งหลังการไต่สวนนัดแรก ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ออกมา โดยจะมีการพิสูจน์หลักฐานต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อน แล้วจึงจะประกาศอีกทีว่าจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่

มองต่าง..เลิก/ไม่เลิกกรมธรรม์

โดยเรื่องนี้ มองได้ 2 มุม คือ มุมของ คปภ. ที่ต้องการปกป้องผู้บริโภค โดย “ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ. ประกาศว่า จะสู้ไม่ถอย เพราะหากศาลรับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิดกว่า 10 ล้านคน ถูกลอยแพ เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัยต่าง ๆ จะสามารถที่จะบอกเลิกกรมธรรม์ได้เมื่อเจอความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป

“การทำประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ คือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัย มอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยง ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ในช่วงวิกฤต ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกัน จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง” ดร.สุทธิพลกล่าว

เลขาธิการ คปภ. ระบุด้วยว่า บริษัทที่ดำเนินการฟ้องร้องตน ยังมีหนังสือเรียกค่าทดแทนจากตนหลายพันล้านบาท อย่างไม่เป็นธรรมทั้ง ๆ ที่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในวงการประกันภัย เปิดเผยว่า ค่าทดแทนที่ทางบริษัทประกันภัยผู้ฟ้องคดี 2 บริษัท เรียกจากเลขาธิการ คปภ. รวมกันอยู่ที่กว่า 8,066 ล้านบาท เนื่องจากทำให้บริษัทจะเจ๊ง เพราะยกเลิกกรมธรรม์โควิดเจอ จ่าย จบไม่ได้

ส่วนอีกมุม ก็คือ มุมของบริษัทประกันภัยที่แสดงความกังวลว่า หากยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเรื่อย ๆ อาจจะได้เห็นบริษัทประกันภัย “เจ๊ง” เพิ่มอีกอย่างน้อย 2-3 แห่ง ตามรอย “เอเชียประกันภัย” และ “เดอะวัน ประกันภัย” ไป ซึ่งอาจจะรวมถึง “อาคเนย์ประกันภัย” และ “ไทยประกันภัย” ที่เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ด้วย

ชี้ “ทุจริตเคลม” ทำเจ๊งหนัก

โดยสิ่งที่บริษัทประกันภัย มักจะกล่าวถึงกัน ก็คือ ยอดเคลมประกันที่พุ่งขึ้นมากนั้น มีการเคลมโดย “ไม่สุจริต” อยู่ด้วย อย่างในงานวิจัยของ “บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)” หรือ “THRE” ชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้มีประกันภัยโควิด มีอัตราการติดเชื้อโควิดอยู่ที่ 3.8% สูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 2.8% ยิ่งไปกว่านั้น กรมธรรม์โควิด ประเภทเจอ จ่าย จบ มีอัตราการติดเชื้อของผู้มีประกันภัยโควิดในระดับสูง อยู่ที่ 4.2% และยังคงให้ความคุ้มครองจนถึงเดือน มิ.ย. 2565

ขณะที่คนในวงการอย่าง “พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน” หรือ “อาจารย์ทอมมี่” นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ให้มุมมองเรื่องนี้ว่า รอยรั่วเรื่องนี้อยู่ที่มีผู้เอาประกันบางราย เคลมสินไหมประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบโดยไม่จำเป็น หรือ “ทุจริตเคลม” หรือประมาทพาตัวเองไปพื้นที่เสี่ยง หวังติดเชื้อ เพื่อให้ได้รับเงินประกัน ซึ่งสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่บริษัทประกัน หรือลูกค้า แต่ระบบเศรษฐกิจทั้งวงจรได้รับผลกระทบไปด้วย

รอศาลตัดสิน “ออกได้ 2 หน้า”

“พิเชฐ” ประเมินว่า หากศาลไม่รับคำฟ้องคดีนี้ น่าจะเห็นบริษัทประกันที่ขายประกันโควิดเจอ จ่าย จบ ล้มหายตายจากไปอีก จากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ กองทุนประกันวินาศภัย อาจจะมีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายหนี้ หลังจากปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว 2 บริษัท

ขณะที่หากแต่ละบริษัทจ่ายเคลมจนมีเงินไม่เหลือแล้ว เป็นเหตุให้หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องล้มละลาย แปลว่า ลูกค้าผู้เอาประกันจะไม่ได้เงินคืนทั้งหมด เพราะบริษัทไม่มีปัญญานำสินทรัพย์ที่มีไปจ่ายคืนหนี้สินได้ครบทั้งหมด

“เวลานี้สิ่งที่บริษัทประกันทำได้ คือ เคลมทุกเคลมที่เกิดขึ้น ต้องดำเนินการจ่ายเงินให้ลูกค้า ไม่สามารถยกเลิกได้ แต่อนาคตสำหรับลูกค้าผู้เอาประกันที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด บริษัทอาจจะคืนเบี้ยให้ลูกค้าไปก่อน เพื่อให้ทุกคนได้รับเงินคืน เพราะถ้าบริษัทล้มละลาย ผู้เอาประกันที่เหลือจะไม่ได้เงิน ซึ่งจะเสียหายไปถึงลูกค้าประกันรถยนต์ และลูกค้าพอร์ตประกันอื่น ๆ ด้วย”

ส่วนกรณีหากศาลรับคำฟ้อง ก็เหมือนการที่เราซื้อหวยใต้ดินล่วงหน้า 24 งวด โดยหวยออกไปแล้ว 12 งวด ซึ่งบริษัทประกันต้องจ่าย แต่อีก 12 งวดข้างหน้า บริษัทไม่อยากรับแทงแล้ว ก็อาจจะคืนเงินให้ลูกค้า

ขณะที่ในมุมมองลูกค้า ก็อาจจะมองว่า ก็จ่ายเงินทั้งก้อนไป เพื่อจะซื้อหวย 24 งวด แล้วทำไมไม่บอกสักคำ ว่าระหว่างทางจะเปลี่ยนใจไม่รับแทงต่อ แล้วคืนเงิน แม้จะระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ตัวเล็กเท่ารูมด ดังนั้น ปัญหาจริง ๆ น่าจะมาจากการสื่อสารการขายในตอนแรกด้วยซ้ำ หากสื่อสารให้เข้าใจกันตั้งแต่แรก ก็จบ เหมือนประกันรถยนต์ที่ยกเลิกกลางทางได้

แนะ “ถอยคนละก้าว” อุดรูรั่ว

“พิเชฐ” กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การทุจริตเคลม ต้องยอมรับว่าตรวจสอบยาก เป็นลักษณะภูเขาน้ำแข็ง ต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบ เดิมประวิงจ่ายเคลม ต้องไม่เกิน 15 วัน ซึ่งจริง ๆ ต้องใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้น อาจต้องยอม “ถอยกันคนละก้าว” เพื่อช่วยสังคม

“รอยรั่วที่จ่ายเงินให้คนโกงเคลมประกันโควิด ถ้าให้เวลาในการตรวจสอบ เชื่อว่าจะช่วยประหยัดเงินในการนำมาจ่ายเคลมสำหรับผู้ป่วยโควิดได้ และช่วยยืดหรือผ่อนคลายสภาพคล่องในอนาคตก็ยังได้ ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะ win-win เป็นประโยชน์ทั้งสองฝั่ง ผมในฐานะนักวิชาการ ก็เห็นใจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะผู้บริโภคหรือบริษัทประกัน” นายพิเชฐกล่าว

ข้อเสนอข้างต้นดูน่าสนใจ และอาจจะเป็นทางออกหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์ที่ดำเนินมาจนใกล้ชี้ชะตาแล้ว คงต้องรอคำตัดสินของศาลเพียงอย่างเดียว แล้วค่อยมาว่ากันต่อไป