เปิดแพ็กเกจเติมเงินเฟส 4 ดึงเงินกู้ 2 แสนล้าน-คนละครึ่งลดค่าครองชีพ

การระบาดของโรคระลอกใหม่มาไวและยืดเยื้อ พร้อมกับราคาสินค้าแพงยกแผง

รัฐบาลต้องควักเงินกู้ออกมาจ่าย เติมให้กระเป๋าประชาชนเพิ่มกำลังซื้อ ก่อนเวลาที่พยากรณ์ไว้ล่วงหน้า

กระทรวงการคลังเตรียมงัดแพ็กเกจ “ดูแลค่าครองชีพ” มาใช้อีกครั้ง โดยใช้เงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

ภายหลังหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และทีมรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้

นำเสนอวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เพื่อ “ลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน”

นายกฯนั่งไม่ติด สั่งคลังแก้เกมของแพง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% แม้จะมีบางช่วงที่อาจทำให้เงินเฟ้อใกล้ระดับ 3% หรืออาจเกินกรอบไปบ้าง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่แน่ชัด ยังขึ้นอยู่กับการดูแลราคาสินค้าและอาหาร

แต่ยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อเกินกรอบ 3% รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปดูแลแล้ว

โดยเฉพาะในเรื่องราคาสุกรที่ปรับเพิ่มสูงอย่างมาก ขณะที่ราคาน้ำมันทางกระทรวงพลังงานก็ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่าสถานการณ์ราคาสินค้าและพลังงานจะเริ่มคลี่คลายลงได้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้

ควักหมื่นล้านเติมเงิน “คนละครึ่ง-บัตรคนจน”

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ในเรื่องการบริโภคนั้นรัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการที่จะเข้าไปกระตุ้นการบริโภคโดยเน้นไปยังกลุ่มฐานราก โดยขณะนี้มีแผนที่จะเร่งออกโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 14 ก.พ.นี้ และเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.เป็นต้นไป โดยคนละครึ่ง เฟส 4 จะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท และวงเงินที่เหลือมาจากคนละครึ่ง เฟส 3 อีกประมาณ 10,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.คณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ที่มีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เป็นประธาน ได้ประชุมรายละเอียดมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เพื่อสรุปวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ

โดยคนละครึ่ง เฟส 4 จะมีระยะเวลาใช้จ่ายราว 2-3 เดือน ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดให้ใช้จ่ายได้มากขึ้น จากเดิมไม่เกิน 300 บาทต่อวัน เพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือกลุ่มเปราะบางด้วยซึ่งจะเป็นการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าอีกคนละ 200-300 บาทต่อเดือน

ซึ่งจะทำให้ได้รับคนละ 500 บาทต่อเดือน ส่วนนี้จะใช้เงินจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม การเติมเงินในกระเป๋าประชาชนรอบใหม่นี้ มุ่งเป้าหมายเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพที่จะออกมานี้ ต้องการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสินค้าราคาแพง

อัดเงิน 1.3 หมื่นล้าน เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4

ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จะเสนอ ครม.พิจารณาเพิ่มสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 อีก 2 ล้านสิทธิ (ห้อง) วงเงิน 13,200 ล้านบาท หลังจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 มีประชาชนจองใช้สิทธิครบเต็ม 2 ล้านสิทธิแล้ว รวมถึงจะเสนอให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 2565 ออกไปจนถึงในวันที่ 30 เม.ย. 2565

โดยมีการขอปรับเปลี่ยนจำนวนสิทธิ จากเดิมกำหนดไว้ 1 ล้านสิทธิที่รัฐบาลจะช่วยสมทบค่าแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวในสัดส่วน 40% ของราคาเต็ม สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ ลงเหลือไม่เกิน 200,000 สิทธิ เนื่องจากที่ผ่านมา (ณ 17 ม.ค. 2565) ยังมีสิทธิคงเหลือมากถึง 972,718 สิทธิ ถูกใช้ไปเพียง 27,282 สิทธิเท่านั้น

ดึงงบฯฉุกเฉิน 1,480 ล้านบาท แก้ปัญหาสินค้าแพง

ก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์กระทรวงพาณิชย์ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำด้วยการขออนุมัติงบประมาณ รายการงบฯกลาง เงินสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2565 วงเงิน 1,480 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ “พาณิชย์ ลดราคา ! ช่วยประชาชน ปี 2565” ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดำเนินการในรูปแบบจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อค่าครองชีพของประชาชนในราคาประหยัด ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน โดยกำหนดพื้นที่จำหน่ายสินค้ากว่า 3,000 จุดทั่วประเทศ

วงเงินกู้เหลือใช้ได้ 2.27 แสนล้านบาท

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สำหรับวงเงิน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น ข้อมูลล่าสุดจนถึง ณ วันที่ 13 ม.ค. 2565 ครม.ได้อนุมัติวงเงินการใช้จ่ายไปแล้ว 343,000 ล้านบาท

โดย สบน.ได้ดำเนินการกู้เพื่อใช้จ่ายในการดูแลเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ไปแล้ว 273,000 ล้านบาท จึงยังเหลือวงเงินที่จะใช้จ่ายได้ประมาณ 227,000 ล้านบาท

ตรึงราคาน้ำมันดีเซล-แก้ปัญหาสินค้าแพง-ผันผวน

ในช่วงเดียวกันนี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้พิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และเห็นว่า ราคาสินค้ามีความผันผวนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ซัพพลายตามไม่ทันเพราะก่อนหน้านี้ภาคการผลิตเกิดภาวะหยุดชะงัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้ากระโดดขึ้นมา

“แต่เชื่อว่าราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และคงไม่นานถึงขั้นเป็นปี แต่ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนนี้จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดขึ้นและหารือร่วมกันมากขึ้น ในช่วงเกิดภาวะช็อกช่วงสั้น ๆ รัฐบาลได้ออกมาตรการเข้าไปดูแลควบคุมราคา เช่น เนื้อสุกร โดยกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเข้าไปดูแล”

“ส่วนกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูเรื่องต้นทุนผ่านมาตรการภาษี เช่น การลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ เป็นต้น ด้านกระทรวงพลังงาน นอกจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรแล้ว ถ้าพบว่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าในราคาสูงก็ต้องพิจารณาว่าจะสามารถหาเชื้อเพลิงมาใช้ทดแทนได้หรือไม่ หรือการจัดหาไฟฟ้าจากแหล่งอื่น ๆ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว