ยูโรทะยานหลังประชุมอีซีบีดันบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2560 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในตลาดยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนจากแรงเทขายของนักลงทุนภายหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งถัดไป โดยในสัปดาห์นี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่ออกมาต่ำกว่าคาดโดย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมิถุนายนออกมาทรงตัว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบรายปี โดยดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ทั้งนี้ ข้อมูล CPI ล่าสุดบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้หลังจากปรับขึ้นไปแล้วในเดือนมีนาคม และมิถุนายน นอกจากนี้ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือนมิถุนายนยังปรับตัวลดลง 0.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 และยังสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 93.1 ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 95 นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์นี้ของพรรครีพับลิกันในการถอดถอนกฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ และบงคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/7) ที่ 33.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 33.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคจากกระแสเงินไหลเข้าของนักลงทุนภายหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยหนุนภายในประเทศนั้น ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/7) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยล่าสุดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5% และ 3.7% ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน โดยนโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ นอกจากนั้นแล้วระหว่างสัปดาห์นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับค่าเงินบาทว่า “การแข็งค่าของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ไม่ได้แข็งค่าเฉพาะค่าเงินบาท โดยปัจจัยมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจต้องชะลอออกไป โดยผู้ส่งออกต้องประเมินสถานการณ์และป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.44-33.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตาดในวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบกว่า 26 เดือน

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/7) ที่ระดับ 1.1466/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 1.1413-15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14/7) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยตัวเลขดุลการค้าของยูโรโซนประจำเดือนพฤษภาคมเกินดุล 19.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 18.6 พันล้านยูโร นอกจากนี้ ในวันจันทร์ (17/7) ยูโรสแตทเปิดเผยว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้นสู่ 1.2% เมื่อเทียบรายปี จาก 1.0% ในเดือนพฤษภาคม และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ใน 19 ประเทศที่ใช้ยูโร เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปีในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากในวันพฤหัสบดี (20/7) ภายหลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้กล่าวภายหลังจากที่ทางอีซีบีเสร็จสิ้นการประชุมว่า อีซีบีพร้อมที่จะเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หากมีความจำเป็น และระบุว่า อีซีบีจะทำการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวงเงิน QE ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่เขาไม่ได้ระบุวันที่แน่นอนแต่อย่างใด ทั้งในในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือน ก.ย.นี้ อีซีบีจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อชุดใหม่ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า นายดรากีจะใช้การประชุมในเดือนดังกล่าวทำการประกาศแผนการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมกราคมปีหน้า โดยคาดว่า อีซีบีจะขยายเวลาการใช้มาตรการ QE ออกไปอีก 6 เดือน จากที่มีกำหนดสิ้นสุดในปลายปีนี้ แต่จะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรลง ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1433-1.1677 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 1.1639/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (17/7) เปิดตลาดที่ระดับ 112.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 113.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มีการปรับลดการคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณของประเทศลงมาอยู่ที่ 82 ล้านล้านเยน (7.2 หมื่นล้านดอลลาร์) สำหรับงบประมาณปี 2563 ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงจากการคาดการณ์ที่ผ่านมาที่ 8.3 ล้านล้านเยน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงห่างไกลจากเป้าหมายเกินดุลงบประมาณของรัฐบาลอยู่อีกมาก ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในวันพฤหัสบดี (20/7) ภายหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุม พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2560 โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ขณะเดียวกันคณะกรรมการบีโอเจได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2560 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากระดับ 1.6% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2560 ลงเหลือ 1.1% จากระดับ 1.4% รวมทั้งประกาศเลื่อนเวลาในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ออกไปเป็นช่วงปีงบประมาณ 2562 โดยก่อนหน้านี้บีโอเจคาดการณ์ว่า จะสามารรถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงประมาณปีงบประมาณ 2561 นอกจากนี้บีโอเจยังคาดการณ์ด้วยว่า เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น 1.5% ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.7% ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.46-112.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (21/7) ที่ระดับ 111.74/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้