Metaverse โลกเสมือน ที่ยกระดับการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยี

Metaverse โลกเสมือน ที่ยกระดับการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยี
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : วัทธิกร กิจจาวิจิตร
ธนาคารทิสโก้

โลกในวันนี้กับโลกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นช่วยยกระดับให้สามารถสร้างเทคโนโลยีมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์

โดยเทคโนโลยีล่าสุดจาก Meta ได้อธิบายถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างโลกแบบเดิมที่เราอยู่ในปัจจุบันกับโลกเสมือนที่เป็นส่วนขยายที่ถูกสร้างขึ้นมาบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า “Metaverse” ซึ่งเป็นพื้นที่เสมือนที่ออกแบบให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตโดยใช้ตัวตนแบบดิจิทัลผ่านเทคโนโลยี VR และ AR ที่ช่วยทำให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การทำงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ซึ่งมีความแตกต่างจากโลกออนไลน์แบบปกติ ทำให้การเข้ามาของ Metaverse นั้นจะช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ virtual world ซึ่งเปรียบเสมือนโลกใบที่ 2 ของมนุษย์

ถึงแม้อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์การเกิดขึ้นของ Metaverse ในระยะเริ่มต้นคือ เกม แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า มีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น ecosystem ของ Metaverse ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Meta นอกจากจะเป็นผู้เปิดตัว Metaverse แล้วนั้นยังเติบโตด้วยอุปกรณ์สวมใส่ Oculus VR ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 75%

โดยข้อมูลจาก Appleเปิดเผยว่า application ในช่วงคริสต์มาสที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุด คือ Oculus Virtual Reality App ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความสนใจของผู้คนในโลกของ Metaverse

นอกจากนี้ Microsoft ได้มีการเปิดตัวMicrosoft Mesh ที่สร้างขึ้นบน platform ของบริการ Cloud Azure เป็นระบบโลกเสมือนที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานจำนวนมากที่อยู่ต่างสถานที่กันสามารถประชุม หรือทำการวิจัยร่วมกันได้ เพียงแค่สวมแว่นตา HoloLens2 จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์สวมใส่ประเภท VR ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการเข้าสู่โลก Metaverse ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังของอุปกรณ์เหล่านี้คือ ชิป

โดยปัจจุบันนี้ Qualcomm เป็นผู้ออกแบบชิป Snapdragon ให้กับ Oculus และ HoloLens2 โดยมีโรงงานผู้ผลิตคือ Samsung และมีแผนที่จะให้ TSMC เป็นผู้ผลิตในอนาคต ทำให้อุตสาหกรรมชิปจะได้รับประโยชน์ตามการเติบโตของ Metaverse Hardware เหล่านี้ด้วย

หากนึกถึง Metaverse นอกจากกลุ่มที่ผลิต hardware ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ บริษัทที่ทำกราฟิก และ software หนึ่งในนั้นคือ Nvidia ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดการ์ดจออันดับ 1 (83%)

และล่าสุดได้ทำการเปิดตัว Omniverse ช่วยให้ผู้ใช้ออกแบบตัวตนในโลกเสมือน หรือที่เรียกว่า Avatars รวมถึงวัตถุต่าง ๆ ในโลกเสมือน เช่น ค่ายรถยนต์ BMW ได้พัฒนารถยนต์ใน Omniverse เช่นกัน โดยจะพัฒนาร่วมกับ Game Engine และผู้พัฒนาแบบจำลอง 3D เช่น Unity บริษัทที่ถูกใช้ออกแบบสนามบินของฮ่องกง โดยใช้ Rendering Software ที่ไม่เพียงแต่จำลองแบบเท่านั้น

แต่ยังสามารถจำลองสถานการณ์ stress-test เช่น ไฟไหม้ และน้ำท่วม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันไว้ล่วงหน้า ทางฝั่งผู้ผลิต software คือ ผู้สร้างชุมชน (community) ไปจนถึงการโอนเงินดิจิทัล โดยมีบริษัทชั้นนำอย่าง Roblox ซึ่งเติบโตจากการเป็นชุมชนออนไลน์สามารถเชื่อมต่อได้หลายผู้เล่น

และมีจุดเด่นที่สามารถให้ผู้เล่นออกแบบชุมชนของตนเองได้ ผู้มีชื่อเสียงอย่าง Paris Hilton, Justin Bieber ไปจนถึง DJ Marshmellow ได้จัด New Year’s Eve Party ใน Virtual Island ของตนเองผ่าน platform ของ Roblox

Roblox ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้เล่นเกมธรรมดาให้เป็นการใช้เวลาอยู่ในโลกเสมือน ส่งผลให้ยอดผู้เล่นเติบโตขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และบริษัทที่มีรายรับเป็นค่าบริการก็ได้ประโยชน์จากการเติบโตดังกล่าว

เช่นเดียวกับ Epic Game ผู้สร้างเกม Fortnite เกมออนไลน์ในรูปแบบผู้เล่นหลายคน ซึ่งบริษัทรองเท้าชื่อดังอย่าง Nike ได้เปิดตัวรองเท้าสำหรับเป็นไอเท็มให้กับตัวละครในเกม แสดงให้เห็นถึงความนิยมของโลก Metaverse ที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ hardware และ software แล้วนั้น อีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ Cloud Infrastructure +5G ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในโลกเสมือน สำหรับการเติบโตในอนาคตของโลกเสมือนจะถูกนำไปประยุกต์กับวงการอื่น เช่น การจัดงานแสดง ไปจนถึง e-Commerce

ด้วยความนิยมดังกล่าวทำให้ Bloomberg Consensus ประเมินว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse จะพุ่งสูงขึ้นจาก 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ไปแตะ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024

หรือคิดเป็นการเติบโตกว่า 3.4 เท่าภายในระยะเวลา 4 ปี หรือคิดเป็นการเติบโตปีละ 13% CAGR โดยมีประเทศมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีอย่างจีน ที่ได้สนับสนุนการเกิดโลกเสมือน เห็นได้จากวิสัยทัศน์ของผู้นำซึ่งมีการกล่าวถึง virtual world ในแผนพัฒนา 5 ปี โดยจะเร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ Baidu ทำการเปิดตัว XiRang หรือดินแดนแห่งความหวัง ซึ่งเป็น Metaverse แรกของประเทศจีน ในวันที่ 21 ธ.ค. 2021 การเปิดตัว Metaverse ของ Baidu นั้นเพิ่มโอกาสในการพัฒนา application ต่าง ๆ ให้มากขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่าใน Metaverse Ecosystem นั้นมีหลายบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับประโยชน์และยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก ปัจจุบันมีเพียงกองทุน Roundhill Ball Metaverse ETF ที่ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse ซึ่งประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า 95%

ทำให้มองว่าธีมของ Metaverse เป็นส่วนผสมระหว่างหุ้น growth+quality ที่นอกจากจะสามารถสร้างการเติบโตได้สูงแล้วนั้น หลายบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของ Metaverse ยังสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างมองหาในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น