ธุรกิจแห่ขาย “หุ้นกู้” ตุนเงิน เดือนเดียวแสนล้านหนีดอกเบี้ยแพง

หุ้นกู้

 

ยักษ์ธุรกิจแห่ระดมทุนขายหุ้นกู้ล็อกต้นทุนการเงิน ตั้งรับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น เปิดตัวเลข ม.ค.เดือนเดียวยอดพุ่ง 1.07 แสนล้าน แรงหนุน 3 ยักษ์ “PTTGC-BANPU-TRUE” สมาคมตราสารหนี้ไทย ชี้สัญญาณต้นทุนดอกเบี้ยขยับทุกระดับเรตติ้ง วงในคาดปีนี้ยอดขายหุ้นทะลัก 1 ล้านล้านบาท ธุรกิจใหญ่วางแผนตุนเงินขยายการลงทุน-คืนหนี้แบงก์ จับตาเดือน มี.ค. “ไทยเบฟ” ของเจ้าสัวเจริญหุ้นกู้ครบดีล 4.3 หมื่นล้านบาท ฟาก “ดับเบิ้ล เอ” ออกหุ้นกู้ 7,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยสูงสุด 4.85% ต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นครั้งแรกในการประชุมเฟดกลางเดือนมีนาคมนี้ และหลาย ๆ สำนักวิจัยก็คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตลอดทั้งปีอย่างน้อย 4 ครั้ง ขณะที่แบงก์ออฟอเมริกา คาดการณ์ว่าในปีนี้เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยวันนี้( 9 ก.พ.) ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยยัง “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ 0.50% ต่อปี และคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 1.9% ทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ยถึงตราสารหนี้ระยะยาวของไทยด้วย ทำให้การระดมทุนของภาคธุรกิจเอกชนจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น

ระดมทุนหุ้นกู้ ม.ค.65 พุ่งเท่าตัว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 การระดมทุนออกตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้ ในตลาดแรกน่าจะคึกคักต่อเนื่องจากปีที่แล้วเนื่องจากความกังวลเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากเดือน ม.ค. 65 มีหุ้นกู้ออกใหม่มูลค่า 107,300 ล้านบาท โดยสูงกว่า 113.96% เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ครบกำหนดในเดือน ม.ค. 65 ที่มีมูลค่า 50,150 ล้านบาท

โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่ (ไม่ได้เป็นการทดแทนหุ้นกู้ครบอายุ) เช่น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ไม่มีหุ้นกู้ครบกำหนดเลย และ บมจ.บ้านปู (BANPU) ออกหุ้นกู้ใหม่อีกมูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีหุ้นกู้ทยอยครบกำหนดมูลค่าหลักพันล้านในช่วงไตรมาส 2/65 และไตรมาส 4/65 ส่วนที่เหลือจะเป็นกลุ่มรีไฟแนนซ์ที่ออกใหม่เพื่อชดเชยหุ้นกู้ครบอายุ อาทิ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มูลค่า 13,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ทุกคนกังวลประเด็นดอกเบี้ยที่มีโอกาสจะปรับขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นทยอยปรับขึ้นบ้างแล้ว โดยสิ้นเดือน ม.ค. 65 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับขึ้นมาประมาณ 0.15-0.25% โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ปรับตัวมาอยู่ที่ 2.17% จากระดับ 1.9% เมื่อสิ้นปี 64 เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี ขยับมาอยู่ที่ 1.45% จากระดับ 1.29% แต่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังไม่ขยับ จากดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง”

ต้นทุนดอกเบี้ย “หุ้นกู้” ขยับ

นางสาวอริยากล่าวต่อว่า สำหรับต้นทุนผู้ออกหุ้นกู้ เห็นสัญญาณขยับขึ้นแต่ไม่แตกต่างมาก เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด (pre-COVID) เนื่องจากค่าชดเชยความเสี่ยง (credit spread) ที่เห็นแนวโน้มลดลง โดยสิ้นเดือน ม.ค. 65 ต้นทุนการออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี บริษัทเรตติ้ง AAA อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.01% ปรับเพิ่มขึ้น 0.13% เทียบก่อนโควิด และเพิ่มขึ้น 0.16% นับจากต้นปี 2565

ขณะที่ต้นทุนการออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี บริษัทเรตติ้ง AA อยู่ที่ 2.23% เพิ่มขึ้น 0.02% เทียบก่อนโควิด และเพิ่มขึ้น 0.13% นับจากต้นปี และต้นทุนการออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี เรตติ้ง A อยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้น 0.31% เทียบก่อนโควิด และเพิ่มขึ้น 0.06% นับจากต้นปี ส่วนต้นทุนการออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี เรตติ้ง BBB อยู่ที่ 4.67% เพิ่มขึ้น 0.48% เทียบก่อนโควิด และเพิ่มขึ้น 0.14% นับจากต้นปี

“ต้นทุนผู้ออกหุ้นกู้แต่ละเรตติ้งขยับขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ขยับขึ้นมาซึ่งเป็นเทรนด์ทั่วโลก แต่ต้นทุนโดยรวมของภาคเอกชนยังไม่สูงมาก” นางสาวอริยากล่าว

ครบดีล 6.9 แสนล้านลุ้นไทยเบฟ

นางสาวอริยากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในเดือน ก.พ.จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดมูลค่า 47,000 ล้านบาท และเดือน มี.ค. 65 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีกมูลค่า 95,000 ล้านบาท โดยล่าสุด บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ประกาศไถ่ถอนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) และมีแผนออกใหม่มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในยอดหุ้นกู้ครบอายุ

สำหรับในปี’65 มีหุ้นกู้ครบกำหนดประมาณ 6.9 แสนล้านบาท โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดเดือน มี.ค. เช่น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) (ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) มูลค่ากว่า 43,900 ล้านบาท ซึ่งต้องรอดูว่าจะใช้เงินสดของบริษัทมาไถ่ถอน หรือจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่

“ดูแล้วภาพการออกหุ้นกู้น่าจะสดใส เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่เยอะ ทำให้มีความต้องการจากนักลงทุนสูง โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่เสนอขายผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น จะพบว่ายอดจองซื้อเต็มอย่างรวดเร็ว”

ดอกเบี้ยกระชากแรงโอกาสผู้ลงทุน

นางสาวอริยากล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงการระดมทุนออกหุ้นกู้ว่า ถ้าต้นทุนดอกเบี้ยกระชากไปแรง ๆ อาจจะมีผลต่อต้นทุนผู้ออกหุ้นกู้ได้ แต่ก็เป็นจังหวะในการซื้อของนักลงทุนเช่นกัน ฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงคงเป็นเรื่องความผันผวนมากกว่า เหมือนช่วงเดือน มี.ค. 63 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ตลาดปั่นป่วนมาก จากสาเหตุที่ค่าชดเชยความเสี่ยงในต่างประเทศกระชากขึ้นมาแรงมาก กดดันตลาดและกระทบเงินไหลออกไปหมด

อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบนี้ ตลาดค่อนข้างซึมซับไปแล้วพอสมควร ฉะนั้นความผันผวนเหมือนในอดีตน่าจะเกิดขึ้นน้อย แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ และอีกความกังวลหนึ่งคืออัตราเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อไทยตอนนี้ขยับขึ้นมาอยู่กว่า 3% ซึ่งหลัก ๆ มาจากราคาน้ำมันและสินค้าประเภทอาหาร จึงเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้บอนด์ยีลด์ปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนทิศทางเงินทุนต่างชาติ (fund flow) ในตลาดตราสารหนี้ นางสาวอริยากล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึง 7 ก.พ. 65 ต่างชาติซื้อสุทธิบอนด์ไทยไปแล้วกว่า 73,700 ล้านบาท ขณะที่ปี’64 ซื้อสุทธิรวม 1.4 แสนล้านบาท โดยฟันด์โฟลว์มีโอกาสผันผวนหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินก็จะไหลออกได้

ยักษ์พลังงานคืนเงินกู้แบงก์

แหล่งข่าวธนาคารกสิกรไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้บรรดากลุ่มผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้มองว่า ถ้าตลาดไม่มีปัจจัยกดดันแรง ๆ น่าจะมียอดออกหุ้นกู้ใหม่ทั้งปีแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 แสนล้านบาทต่อเดือน โดยกสิกรฯมีส่วนแบ่งตลาดหุ้นกู้อยู่ประมาณ 16-18% โดยผู้ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะนำเงินที่ได้ไปลงทุน คืนหนี้หุ้นกู้เดิม และคืนหนี้เงินกู้แบงก์

สำหรับลูกค้าในมือรายใหญ่ ๆ ที่ออกหุ้นกู้ไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค. 65 คือ บมจ.บ้านปู (BANPU) ซึ่งส่วนหนึ่งนำเงินไปลงทุน และอีกส่วนคืนหนี้เงินกู้แบงก์ และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เตรียมนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศตามแผนขยายกิจการ นอกจากนี้ก็มีหุ้นกู้ของฮอนด้าลีสซิ่งที่เตรียมจะออกขายให้นักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ ส่วนที่ยื่นไฟลิ่งไปจะเสนอขาย มี.ค. 65 คือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) โดยกำหนดเสนอขายในช่วง 20-23 มี.ค. 65

หุ้นกู้เสนอขายช่วง ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหุ้นกู้ที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไปช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 65 อาทิ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มูลค่า 4,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 3 ปี 1 วัน ดอกเบี้ย 3.13% อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.45% ต่อปี และอายุ 4 ปี 11 เดือน 30 วัน ดอกเบี้ย 3.7% ต่อปี

บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (DA) เปิดขายหุ้นกู้ 3 ชุด มูลค่า 7,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 4 ปี 6 เดือน ดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี อายุ 5 ปี 6 เดือน ดอกเบี้ย 4.50% และอายุ 7 ปี จ่ายดอกเบี้ย 4.85% ต่อปี

บริษัท ยูนิค เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 3,000 ล้านบาท อายุ 4 ปี จ่ายดอกเบี้ย 4.10%

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้ 3,500 ล้านบาท อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.75% เสนอขาย 8-10 มี.ค. 2565 เป็นต้น

อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทเอกชนจำนวนมากที่มีการเสนอขายหุ้นกู้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดขายหุ้นกู้ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา 2 ชุด มูลค่า 8,000 ล้านบาท โดยรุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 6.75% ต่อปี และอายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.10% ต่อปี เป็นต้น