กนง.รับราคาพลังงาน-อาหารพุ่งดันเงินเฟ้อครึ่งปีแรกมีโอกาสหลุดกรอบ 3%

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

กนง.รับเงินเฟ้อมีโอกาสหลุดกรอบ 3% ในช่วงครึ่งปีแรก เหตุราคาน้ำมัน-อาหารสดปรับเพิ่มขึ้น ยันแค่ปัจจัยชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยดูแล ย้ำการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประคองรายได้ครัวเรือน ควรชั่งน้ำหนักให้รอบคอบ รับกระทบภาระผู้ประกอบการรายเล็ก หวั่นลดการจ้างงาน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ประเด็นอัตราเงินเฟ้อ เป็นประเด็นที่ กนง.จับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกระทบต่อประชาชน โดยมองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเกินกรอบเป้าหมายด้านบน 3% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบระยะใกล้และปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% โดยเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว ซึ่งมาจากราคาพลังงานและอาหารที่เร่งตัวขึ้น แต่เป็นการเร่งขึ้นที่ไม่ยั่งยืน แต่ก็สร้างความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เงินเฟ้อเกินกรอบชั่วคราว ทำให้ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ แต่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.50% ต่อปี โดย ธปท.ยังคงต้องให้ชั่งน้ำหนักตามเป้าประสงค์ 3 ด้าน คือ 1.การดูแลเศรษฐกิจให้มีการเติบโต 2.แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ และ 3.เสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งกรอบนโยบายการเงินมีความยืดหยุ่น ซึ่ง ธปท.จะดูแลไม่ให้ราคาบางจุดหรือเฉพาะจุดปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง เพราะจะกระทบต่อประชาชน แม้ว่านโยบายการเงินจะดูแลภาคการผลิตไม่ได้ แต่สามารถดูแลเรื่องการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไม่ให้ฝั่งเข้าไปในระบบ

อย่างไรก็ดี ในการประเมินเศรษฐกิจรอบหน้า ธปท.จะมีการทบทวนประเมินสมุมติฐานราคาน้ำมันอีกครั้ง หลังจากเดิมที่คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทยอยปรับลดลงเหลือ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ตัวเลขจริงปรับเพิ่มขึ้นไประดับกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ จากเดิมที่เริ่มคลี่คลาย แต่ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องยูเครนเข้ามาอีก

“ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น เป็นประเด็นที่คณะกรรมการ กนง.จับตาอย่างใกล้ชิด แต่เงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายเป็นเรื่องปกติ หรืออยู่นอกกรอบเป้าหมายด้านต่ำก็มี เช่น สหรัฐ และอังกฤษ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้าในบางรายการ แต่สินค้าบางประเภทปรับลดลงด้วยซ้ำ

ซึ่งดูจากตะกร้า CPI ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นราคาเป็นวงกว้าง คือยังไม่เป็นปัญหาราคาปรับเพิ่มยกแผง แต่ราคาสินค้าบางประเทศปรับสูงขึ้นจริง หากเปรียบเทียบจำนวนสินค้าและบริการในไทยที่ราคาเพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง แต่ไม่ได้ปรับขึ้นมากถึงขั้นเป็นห่วงในภาพรวม ซึ่งต่างจากสหรัฐที่ราคาปรับสูงขึ้นถึง 35% อย่างไรก็ดี เราจะห่วงเงินเฟ้อ คือ เงินเฟ้อที่คงในอัตราสูงเป็นเวลานาน”


สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่าคณะกรรมการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องมองในระยะปานกลางมากกว่าปัจจัยเฉพาะ เพราะถ้าราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่มีการตอบรับเร็วเกินไปโดยการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจจะส่งผลกระทบได้ จะเห็นได้จากครั้งก่อนที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเร็วและกระโดด แม้ว่าจะช่วยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่ในทางกลับกันก็เป็นการสร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กอาจจะมีการลดการจ้างงาน ดังนั้น แม้ว่าจะทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่อาจไม่มีงานทำ จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี