เงินบาทแข็งค่า 4% นำภูมิภาค ฟันด์โฟลว์ทะลัก “หุ้น-บอนด์”

เงินบาท

ค่าเงินบาทแข็งค่า 4% นำภูมิภาค เหตุมีเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาด “หุ้น-บอนด์” ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว การท่องเที่ยวกำลังดีขึ้น 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย ทีม Investment and Markets Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเงินบาทมีทิศทางการเคลื่อนไหวแข็งค่านำภูมิภาค นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าอยู่ที่ 4% (ณ วันที่ 18 ก.พ. 2565) ตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้า

สาเหตุหลักมาจาก 2-3 ข้อ คือ 1.ไทยกลับมาฟื้นตัวและเปิดประเทศช้ากว่าคนอื่น ในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ผลพวงมาถึงไตรมาสที่ 1/2565 ซึ่งได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว

2.สถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการขึ้นดอกเบี้ย โดยมีการคาดการณ์ปรับขึ้นตั้งแต่ 3 ครั้งไปจนถึง 5 ครั้งในปีนี้ และ 3.ภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันในฝั่งตลาดตะวันตกมากกว่าตลาดเอเชีย

“หากพิจารณา 3 ปัจจัย จะพบว่าไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แนวโน้มการท่องเที่ยวกำลังดีขึ้น สะท้อนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะออกมาดีกว่าคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นและหลุดกรอบในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะกลับมาดีขึ้น และยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ทำให้แรงกดดันขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังน้อย”

ดังนั้น ภาพรวมเสถียรภาพของประเทศไทยที่ค่อนข้างดี จึงกลายเป็นปัจจัยที่ดึงดูดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นสัญญาณต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้น-พันธบัตร (บอนด์) นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-18 ก.พ.) นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นสุทธิราว 7.1 หมื่นล้านบาท ซื้อบอนด์สุทธิ 1.42 แสนล้านบาท รวมต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 2.13 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิ 4.9 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อบอนด์สุทธิ 2.11 แสนล้านบาท และในปี 2563 ที่ขายหุ้นและบอนด์สุทธิกว่า 2.99 แสนล้านบาท

นายสงวนกล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยยังคงกรอบประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ 31.75-32.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าประมาณ 5% จากปีก่อนอ่อนค่าไปกว่า 11% โดยในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ อาจจะเห็นเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าได้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทในตลาดหุ้น ซึ่งจะเห็นแรงซื้อดอลลาร์จำนวนมาก และขายเงินบาท เม็ดเงินรวมราว 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงจับตา mega-cross border transaction ดีลขนาดใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ ซึ่งจะมีแรงกดดันให้บาทกลับมาอ่อนค่าได้บ้างเช่นกัน


“ไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความผันผวนต่ำ ผลตอบแทนจูงใจ หรือ low-beta market ในท่ามกลางปัจจัยผันผวนในโลกตะวันตกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และสงครามในยุโรป โดยเงินบาทแข็งค่ารอบนี้จึงดูมีปัจจัยพื้นฐานรองรับอยู่พอสมควร มากกว่าจะเป็นการเก็งกำไรโดด ๆ” นายสงวนกล่าว