สุพัฒนพงษ์ จ่อถกค่ายรถ เตรียมความพร้อมนำเข้าอีวี-ปรับโครงสร้างภาษีใหม่

รมว.คลัง เผยสัปดาห์หน้า “รองนายกฯ” ถกค่ายรถยนต์ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ เตรียมความพร้อมนำเข้าและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ลดปล่อยคาร์บอน ชี้ไม่กระทบฐานะการคลัง

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็จะเป็นการส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ด้วย

อย่างไรก็ดี สัปดาห์หน้านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพลังงาน จะหารือเรื่องการปรับภาษีดังกล่าวกับค่ายรถยนต์ รวมทั้งสอบถามความพร้อมทั้งการนำเข้าและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และค่ายรถยนต์ก็ยอมรับในเรื่องอัตราภาษี ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างค่ายรถยนต์ด้วย

ส่วนการสนับสนุนทางภาษี เพื่อลดการปล่อย CO2 จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้หรือไม่นั้น มองว่าการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ หากผู้ประกอบการไม่มีการปรับการผลิตเครื่องยนต์ ยังมีการปล่อย CO2 เท่าเดิม ก็จะเสียอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่หากมีการปรับลดการปล่อย CO2 สรรพสามิตก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ ซึ่งก็ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย

อย่างไรก็ดี มองว่าการเสียรายได้จากภาษีดังกล่าว ยังมีผลก่อให้เกิดการจ้างงานจากการผลิตชิ้นส่วน เพื่อมาทดแทนการผลิตรูปแบบเดิม ซึ่งจะมีการจัดเก็บรายได้ก็จะกลับมาในรูปแบบภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล

“อัตราการสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษี จะเป็นรายได้กลับมาในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งเรื่องฐานะการคลังยังมีการจัดเก็บรายได้ มีหลายส่วน” นายอาคมกล่าว

ปรับอัตราภาษี ลดปล่อย CO2

สำหรับการปรับอัตราภาษีดังกล่าว ได้แก่

1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น

2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน

3. การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 พ.ศ. 2571 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ

เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตราร้อยละ 8 เหลืออัตราร้อยละ 2 เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

4. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราวจนถึงปี พ.ศ. 2568

5. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบ จาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบ จาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ

ปรับโครงสร้างภาษีมอเตอร์ไซค์ ลดใช้น้ำมัน เพิ่มระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 1 จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ดังนี้

1. ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป

2. ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC

3. ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเพด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 หรือที่สูงกว่า หรือ UN Regulation No.75 หรือที่สูงกว่า

4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก