รัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ผู้ติดเชื้อสูง นักลงทุนเสี่ยงต่ำ “ถือเงินสด-หุ้นปันผลเด่น”

หุ้น

บล.ฟิลลิป ประเมินตลาดหุ้นไทยผันผวนสูง ขยับไปไหนไม่ได้ไกลระหว่างกรอบ 1,670-1,690 จุด ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อคาดเป็น Overhang ตลาดไปอีกระยะหนึ่ง ด้านทิศทางผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศเป็นขาขึ้นเร่งตัวแตะระดับ 45,000 ราย แนะนักลงทุนเสี่ยงต่ำเพิ่มสัดส่วน “ถือเงินสด-หุ้นปันผลเด่น” แทน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า ดัชนี SET Index เช้านี้คาดว่าจะมีความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภูมิศาสตร์การเมือง ทำให้ตลาดขยับไปไหนไม่ได้ไกลระหว่างกรอบ 1,670-1,690 จุด โดยปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดว่าจะเป็น Overhang กับตลาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนภายในประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ในทิศทางขาขึ้นเร่งตัวแตะระดับ 45,000 รายจากการตรวจทั้งสองระบบ ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดแม้ทาง ศบค.ไม่มีท่าทีการใช้มาตรการคุมเข้มออกมา

โดยภาพรวมสัปดาห์นี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนต่อไป แต่ตลาดจะเริ่มให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วยในระหว่างทาง ได้แก่ 1.ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่อสภาคองเกรส 2.การประชุม OPEC+ ที่ต้องติดตามการปรับกำลังการผลิตหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

3.ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยและยูโรโซน และ 4.ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐเดือน ก.พ. 2565 ที่หากออกมาดีกว่าคาดจะยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเพิ่มโอกาสที่ทาง Fed จะปรับนโยบายทางการเงินเป็นแบบเข้มงวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุน เก็งกำไรโค้งสุดท้ายในหุ้นที่คาดงบการเงินไตรมาส 4/64 ออกมาดี สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงสามารถเริ่มทยอยซื้อเพื่อเก็งกำไรรอบใหม่โดยมองหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน คือ

หุ้นกลุ่มพลังงาน (PTTEP, BCP) และหุ้นที่ราคาปรับตัวลงไปแรงแต่ได้ผลกระทบจำกัด (KBANK, MAKRO) ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดกับลงทุนในที่หุ้นที่ปันผลโดดเด่นแทน

สำหรับภาวะสงครามของรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มจะกลายเป็นปัญหายืดเยื้อและไม่น่าจะจบลงในเร็ววัน หลังประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนยืนยันไม่ลี้ภัยตามข้อเสนอของสหรัฐและจะต่อต้านรัสเซียอย่างถึงที่สุด

แม้จะตกเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่มีความคืบหน้าเล็กน้อยว่ายูเครนพร้อมส่งตัวแทนเจรจากับรัสเซียที่ชายแดนยูเครน-เบลารุส

ขณะที่ทางฝั่งรัสเซียก็เผชิญสงครามที่ยืดเยื้อจากการที่ยูเครนไม่ยอมแพ้ ประกอบกับชาติพันธมิตรนำโดยสหรัฐและยุโรปยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงขึ้น ที่ล่าสุดโลกตะวันตกได้ตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากการชำระเงิน SWIFT หรือระบบการเงินสากล

อีกทั้งนานาชาตินำโดยเยอรมนีได้ส่งกำลังอาวุธและทรัพยากรเข้าช่วยเหลือยูเครนต่อต้านรัสเซีย ด้าน NATO ได้เสริมกำลังเข้าพื้นที่ชาติสมาชิกต่อเนื่องเพื่อป้องกันสงครามขยายวงกว้าง

และต้องระวังหากชาติพันธมิตรโดยเฉพาะยุโรปประกาศคว่ำบาตรด้านพลังงานอาจทำให้เกิดวิกฤตพลังงานขึ้น ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ และอาจนำไปสู่ภาวะ Stagflation ที่เศรษฐกิจชะลอลง แต่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น กลายเป็นภาระหนักแก่ธนาคารกลางทั่วโลกในการแก้ไขปัญหา