ยื่นภาษีปี 2564 โค้งท้าย ภายใน 31 มี.ค.65 ใครต้องยื่นบ้าง เช็กที่นี่

ยื่นภาษี
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 29 มีนาคม 2565

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากปีภาษี 2564 ต้องยื่นภายในปลาย มี.ค.-ต้น เม.ย. กรมสรรพากรทำเช็กลิสต์ความพร้อม แนะนำก่อนยื่นแบบภาษี

วันที่ 29 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ประจำปี 2564 ที่ต้องยื่นในช่วงต้นปี 2565 จะหมดเวลายื่นแบบในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ตามประเภทการยื่นภาษีแบบกระดาษ ยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม และแบบออนไลน์ยื่นภายในวันที่ 8 เมษายน 2565

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอข้อมูลการเตรียมความพร้อมในการยื่นแบบภาษีว่าบุคคลใดบ้าง และมีแหล่งเงินได้ประเภทใดบ้างที่ต้องยื่นภาษีประจำปี (ข้อมูลจากกรมสรรพากร) ดังนี้

การยื่นภาษีเงินได้ คืออะไร

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ คือ การนำแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของกรมสรรพากรมากรอกรายละเอียด พร้อมกับแนบหลักฐานรายได้ประจำปี ตลอดจนหลักฐานลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อนำไปยื่นชำระภาษี ตามช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนดไว้

ผู้ที่มีรายได้ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยมี 2 แบบ ได้แก่

  1. ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน ค่าเช่าบ้าน เงินปันผล
  2. ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น เช่น เงินเดือน โบนัส เบี้ยประชุม ฯลฯ

ใครต้องเสียภาษี

ผู้ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบด้วย

  • บุคคลธรรมดา
  • ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  • กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญ/คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
  • วิสาหกิจชุมชน

แหล่งเงินได้จากไหนต้องเสียภาษี

แหล่งเงินได้ที่ต้องเสียภาษีมี 2 ประเภท แบ่งเป็นแหล่งเงินได้ในประเทศ และต่างประเทศมีรายละเอียดดังนี้

แหล่งเงินได้ในประเทศ 

  • ทำงานในไทย
  • กิจการที่ทำในไทย
  • กิจการของนายจ้างในไทย
  • ทรัพย์สินที่อยู่ในไทย (ดอกเบี้ย, เงินปันผล, ค่าเช่า)

แหล่งเงินได้ต่างประเทศ 

  • ทำงานในต่างประเทศ
  • กิจการที่ทำในต่างประเทศ
  • ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

ผู้ที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทยทั้งช่วงระยะเวลา หรือหลายระยะเวลารวมกันถึง 180 วันในปีภาษีนั้น และต้องนำเงินได้นั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน

เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี

  • เงินเดือน มากกว่า 120,000 ต่อปี
  • ฟรีแลนซ์/ค่านายหน้า
  • ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร
  • ดอกเบี้ย เงินปันผลจากหุ้น กำไร จากคริปโตเคอร์เรนซี
  • ค่าเช่าทรัพย์สิน
  • ค่าวิชาชีพอิสระ
  • ค่ารับเหมา/จ้างทำของ ทั้งค่าแรงและค่าของ
  • เงินอื่น ๆ เช่น รายได้จากการขายสินค้า-บริการออนไลน์ ร้านค้าตลาดนัด, ยูทูบเบอร์, นักแสดง และอินฟลูเอนเซอร์

วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2564

สำหรับวิธีการยื่นภาษีปีภาษี 2564 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3iaUXLQ