ไทยเครดิตฯแย้มสนใจขอไลเซนส์ ธนาคารพาณิชย์ หวังลดข้อจำกัดธุรกิจ

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย แย้มสนใจขอไลเซนส์ยกระดับจาก “ธย.” สู่ “ธพ.” เผยกำลังอยู่ระหว่างศึกษากับ ธปท. หวังลดข้อจำกัดธุรกิจ พร้อมกางแผนปี’65 ปักธงปล่อยสินเชื่อใหม่ 4.5 หมื่นล้านบาท เจาะลูกค้า 3 กลุ่มหลัก “Micro SMEs-Nano-Consumers” ยันหนี้เสียคุมในกรอบ 3% ล่าสุดออก “สินเชื่อ SMEs กล้าให้ Standby OD” หนุนช่วยลูกค้า

วันที่ 17 มีนาคม 2565 นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาการยกระดับจากธนาคารเพื่อรายย่อย (ธย.) ไปเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (ธพ.) โดยได้มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขออนุญาตใบอนุญาต (License) อย่างไรก็ดี ขั้นตอนกระบวนการขอ และการจัดเตรียมเอกสารค่อนข้างซับซ้อน จึงคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

วิญญู ไชยวรรณ

ทั้งนี้ การยกระดับจาก ธย. ไปสู่ ธพ.จะทำให้ธนาคารสามารถทำธุรกิจได้กว้างมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการประกอบธุรกิจบางอย่างมีข้อจำกัดด้วยไลเซนส์ เช่น การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ การลงทุนในต่างประเทศ หรือการให้ทำธุรกิจได้เฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในนิยามของ ธปท.เท่านั้น ซึ่งทำให้ธนาคารไม่สามารถสนับสนุนหรือปล่อนสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่ได้

“ขนาดสินทรัพย์ของเราสามารถขยับไปเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบได้แล้ว เพราะปัจจุบันการตรวจสอบเหมือนกับ ธพ.ทุกอย่าง ต้นทุน กฎกติกาก็เหมือนกัน ซึ่งเราเองก็สนใจ แต่ต้องยอมรับว่าขั้นตอนกระบวนการค่อนข้างยุ่งยาก การเตรียมเอกสารต่าง ๆ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้รีบ เพราะลูกค้าที่เราให้บริการยังคงครอบคลุมในส่วนรายย่อยอยู่ แม้ว่าบางกรณีที่ลูกค้าเก่ามีการขยายธุรกิจจนเป็นลูกค้ารายใหญ่ เราไม่สามารถสนับสนุนเขาต่อได้ ต้องให้เขาไปแบงก์อื่นก็ตาม”

นายวิญญูกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเป้าหมายธุรกิจในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อ Micro SMEs ประมาณ 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเน้นลูกค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Micro SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างเยอะ 2.Nano เป็นกลุ่มพ่อค้าและแม่ค้า ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากวิกฤต และ 3.ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่จะมุ่งเน้นมากขึ้นผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบ้านแลกเงิน เป็นหลัก

ขณะที่สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้ธนาคารคาดว่าน่าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่กว่า 3% จากปีก่อนธนาคารมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.9% แต่ยังอยู่ในสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ สัญญาณเอ็นพีแอลที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการช่วยเหลือของธนาคารเอง

นายรอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย กล่าวว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการให้บริการทางการเงินที่ดีที่สุดแก่ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาแบรนด์ “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” โดยให้ความสำคัญกับลูกค้าธุรกิจรายย่อย

รอย ออกุสตินัส กุนารา

เช่น กิจการร้านขายของชำ และร้านค้าในตลาดสดที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยมุ่งเติมเต็มความต้องการของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นตลาดสำคัญแต่กลับถูกมองข้าม ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพักชำระหนี้ และอื่น ๆ โดย ณ สิ้นปี’64 มียอดลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ 14% ลดลงจากปี’63 ที่ระดับ 31% มียอดปล่อยกู้ Sofe Loan จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท มีลูกค้าได้รับการปรับลดดอกเบี้ย 3% มากกว่า 9 หมื่นราย มีลูกค้าในโครงการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท และมีการปรับโครงสร้างหนี้รวม 8,000 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการของธนาคารในปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากปีก่อนที่ 1,373 ล้านบาท มียอดสินเชื่อ 9.82 หมื่นล้านบาท เติบโต 43% จากปี’63 จากจำนวนลูกค้า 2.5 แสนราย มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงจาก 49.9% เป็น 42.3% จากการปรับกระบวนการทำงานที่สำคัญ และการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 2.9% ต่ำกว่าเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีโดยรวมที่ 7.08% สะท้อนถึงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงที่ดีของธนาคาร

โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีสินทรัพย์รวม 115,000 ล้านบาท มีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 250,000 ราย มีอัตราการสำรองต่อหนี้เสีย 200% และมีจำนวนสาขารวม 522 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารมีบริการ “Micro Pay” ซึ่งเป็น e-Wallet เพื่อช่วยลูกค้าสามารถรับโอน-จ่ายเงินได้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสด และคุ้นชินกับการใช้โมบายแบงกิ้ง ธนาคารจึงใช้ “Micro Pay” แทน โดยปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 2.33 แสนดาวน์โหลด มีลูกค้าใช้บริการ 1.92 แสนราย มียอดธุรกรรมกว่า 1.3 ล้านครั้ง ยอดเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมียอดใช้จ่ายสม่ำเสมอ (Active) กว่า 41%

“ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้แม้จะยังมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็น่าจะดีกว่าปีก่อน ขณะที่ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนกับลูกค้าของธนาคาร เนื่องจากลูกค้าของธนาคารค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะที่เป็นลูกค้ารายย่อย อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อตลาดปิดลูกค้าไปขายของไม่ได้ก็จะเดือดร้อน พอตลาดเปิดก็กลับมาขายได้ ต่างกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปิดแล้วปิดเลย หน้าที่ของเราก็คือคอยสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อรอเขากลับมา ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังค่อนข้างดี ดูได้จากจำนวนลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ที่ลดลง”

นาธัส กฤตวรานนท์

นายนาธัส กฤตวรานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย กล่าวว่า ล่าสุด ธนาคารได้เปิดตัวแคมเปญ Standby เพื่อสื่อถึงการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในช่วงวิกฤต พร้อมออกสินเชื่อ SMEs กล้าให้ Standby OD ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ Micro SME มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเป็นเงินทุนสำรองให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้หมุนเวียนได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ

ภายใต้แคมเปญ Standby ธนาคารไทยเครดิตมีแผนจะสร้างคอมมิวนิตี้สำหรับผู้ประกอบการ Micro SMEs ในรูปแบบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก Thai Credit SMEs กล้าให้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสาระความรู้และข่าวสาร รวมถึงการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อจุดประกายความคิดในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งการจัดผู้ช่วยธุรกิจส่วนบุคคล (Standby Assistant) เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกค้า และโปรแกรม Privilege เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ให้แก่ลูกค้า Micro SMEs