เปิดมุมมอง 3 อดีตผู้ว่าการ ธปท. ต่อการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล-คริปโต

3 อดีตผู้ว่าการ ธปท. ชัยวัฒน์-หม่อมอุ๋ย-ประสาร ให้มุมมองต่อการกำกับดูแล “สินทรัพย์ดิจิทัล-คริปโตเคอร์เรนซี”

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีต รมช.คลัง กล่าวในงาน “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า

ในปัจจุบันความท้าทายที่เริ่มเห็นกัน ก็คือความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ก่อให้เกิดเครื่องมือหรือแนวทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งข้อดีคือช่วยตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน และหลายเรื่องก็เป็นทางเลือกที่ใช้การได้ แต่ในฐานะ ธปท. สิ่งสำคัญคือต้องมองไปข้างหน้า

“ในฐานะแบงก์ชาติ เราต้องมองไปข้างหน้าว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้น และจะกระทบสิ่งที่เราเป็นห่วงมากน้อยแค่ไหน อย่างในเรื่องสถาบันการเงิน ก็ต้องดูว่าจะทำให้ Landscape (ภูมิทัศน์) ของสถาบันการเงินเปลี่ยนไปแค่ไหน การตอบสนองต่อผู้บริโภคที่เข้ามาใช้นโยบายการเงินเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน และเราคงต้องทันต่อเหตุการณ์

ซึ่งหลายเรื่องผมคิดว่าก็เป็นความปวดหัวของหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้ เหมือนกับเราต้องไล่ตามสิ่งที่เกิดใหม่ ๆ และหลายเรื่องก็ต้องคิดแบบอัจฉริยะมาก ๆ” นายชัยวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ การทำงานของ ธปท.ในอนาคต อาจจะยากลำบากขึ้น เพราะจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น อย่างปัจจุบัน ธปท. กับวงการตลาดทุน และประกันภัย ก็มีความร่วมมือกันหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานเหล่านี้เปิดใจ ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาเรื่องหุ้นกู้ที่จะมีปัญหา เมื่อ 2 ปีก่อน เป็นต้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าทีมงาน ธปท. ในปัจจุบันมีความรู้ที่ทันสมัย และดูแลในเรื่องเทคโนโลยีได้ดี ซึ่งตนรู้สึกชอบทัศนคติของทีมงาน ธปท. ในเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการห้ามไม่ให้ใช้ชำระสินค้าและบริการ รวมถึงอีกหลาย ๆ อย่าง และพยายามจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา ทำให้ตนรู้สึกสบายใจ อย่างไรก็ดี อยากฝากให้พัฒนาเรื่องสกุลเงินดิจิทัลนี้ให้เร็วกว่าแผนที่วางไว้

“เพราะถ้าเรามีสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา จะเป็นตัวป้องกันไม่ให้เกิดคริปโตเคอร์เรนซีขยายเข้าไปในวงการค้าได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หากมองอดีตที่ผ่านมา ก็มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อยู่ไม่รู้จบ ดังนั้นสิ่งที่เห็นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ประยุกต์มาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี ก็แค่เป็นฉากหนึ่ง ซึ่งในวันข้างหน้าก็จะมาอีกแบบหนึ่ง

“ถ้าไปดูว่า ความท้าทายพวกนี้มีอะไรบ้าง จะไม่รู้จบ แต่หลักก็คือ Leadership (ภาวะผู้นำ) ขององค์กร ก็คือ 1.อย่าไปอยู่แต่ความสำเร็จในอดีต 2.การรู้ก่อน ดีกว่าที่จะรอให้คนอื่นมาปรับเปลี่ยนเรา

3.การใช้ประโยชน์จากเรื่องความหลากหลาย ในหลากรูปแบบ พวกนี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่พึงอยากเห็น ไม่ว่าจะระดับรายบุคคลหรือระดับกลุ่ม เพราะไม่ว่าจะคริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัล บิตคอยน์ อะไรพวกนี้ เป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะมีจุดใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราจับหลักให้ได้ ก็จะมีหลักคิดที่จะเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ได้” นายประสารกล่าว