น้ำมันแพง 800 ปั๊มขอเงินกู้เพิ่ม ยอดขายวูบ-ปั๊มอิสระปิดระนาว

หัวจ่ายน้ำมัน

น้ำมันแพง ! ปั๊มแห่ขอเพิ่มวงเงินกู้เสริมสภาพคล่อง เคแบงก์เผยลูกค้าสถานีบริการน้ำมัน 800 แห่ง ขอเงินสินเชื่อเพิ่ม รับมือต้นทุนน้ำมันพุ่ง “แบงก์กรุงเทพ” ยอมรับสถานีบริการบางส่วนเจอปัญหายอดขาย 30% ต้องปรับเงื่อนไขชำระหนี้ รายใหญ่เร่งขยายธุรกิจน็อนออยล์ ปั๊มอิสระภาคใต้ทยอยปิดตัว

ปั๊มน้ำมัน 800 แห่งขอกู้เพิ่ม

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้มีลูกค้ากลุ่มธุรกิจพลังงาน เช่น ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน หรือปั๊มน้ำมัน เข้ามาขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นสภาพคล่อง

เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้วงเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือใกล้เต็มเพดาน จึงต้องขอวงเงินเพิ่มไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขอวงเงินสินเชื่อเบิกเกินบัญชี (O/D)

“ช่วงนี้ปั๊มต้องเตรียมสภาพคล่องเพิ่ม เพราะราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มขึ้น 70% ถ้าสต๊อกน้ำมันวันละ 1 แสนลิตร ก็ต้องมีสภาพคล่องซื้อน้ำมันเพิ่มเฉลี่ยวันละ 1 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้เราพร้อมจะปล่อยสินเชื่อให้ และไม่ห่วงเรื่องความเสี่ยงมากนัก

“เพราะมีการซื้อขายแบบวันต่อวัน ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ไม่มี ซึ่งปัจจุบันแบงก์อยู่ระหว่างเข้าไปช่วยเหลือเสริมสภาพคล่อง 700-800 แห่ง จากทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 4,000-5,000 แห่ง ส่วนกรณีที่เป็นรายใหญ่วงเงินไม่เพียงพอ ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูให้กับลูกค้าเพิ่มเติมได้” นายชัยยศกล่าว

นอกจากกลุ่มธุรกิจปั๊มน้ำมันแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะเข้ามาขอวงเงินเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก เคมีภัณฑ์ และปุ๋ยเคมี เนื่องจากราคาสินค้าเหล่านี้ทยอยเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมวงเงินเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ผลกระทบยังไม่รุนแรงเท่ากลุ่มปั๊มน้ำมันที่มีความต้องการชัดเจน

ยอดขายน้ำมันลดวูบ 30%

ขณะที่นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สถานการณ์ลูกค้าสินเชื่อในกลุ่มสถานีบริการน้ำมันตอนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือกลุ่มที่เข้ามาขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะมีลูกค้าบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากช่วงการระบาดของโควิด-19

ทำให้คนเดินทางน้อยลง ส่งผลให้ยอดขายเฉลี่ยปรับลดลงประมาณ 20-30% และต้องมาเจอสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอีก ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จำเป็นต้องมาขอยืดการชำระหนี้ หรือขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ

ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นลูกค้าที่ขยายกิจการใหม่ หรือการขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (nonoil) เช่น การเปิดปั๊มใหม่ หรือขยายร้านค้าภายในบริเวณสถานี ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้ามาขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการลงทุน สินเชื่อหมุนเวียน และสินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชี (O/D) เพิ่มเติม

โดยส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าที่ขยายปั๊มใหม่จะอยู่บริเวณชานเมือง-ปริมณฑล เช่น นนทบุรี ลพบุรี เป็นต้น โดยวงเงินจะมีตั้งแต่ 10-500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของสถานีและความต้องการเงินทุนของลูกค้า

อย่างไรก็ดี คุณภาพสินเชื่อลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา โดยธุรกิจสามารถเติบโตได้ นอกจากจะเจอปัญหาช็อกที่อาจจะกระทบสภาพคล่อง ซึ่งธนาคารก็พร้อมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) หรือสินเชื่อฟื้นฟูให้ลูกค้า

แห่ลงทุนเปิดปั๊มขนาดใหญ่

นายศิริเดชกล่าวว่า สำหรับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่กลุ่มนี้จะเป็นเกณฑ์ปกติ โดยพิจารณาจากทำเลพื้นที่ตั้ง
ของสถานีบริการ ประมาณการยอดขาย โดยปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีฐานลูกค้ากลุ่มสถานีบริการน้ำมัน ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในตลาด ซึ่งครอบคลุมทุกจังหวัด

“ตอนนี้ลูกค้าบางส่วนก็เข้ามาขอปรับเงื่อนไขชำระเงิน บางส่วนก็ขอเสริมสภาพคล่อง เราก็ช่วยเหลือลูกค้า เพราะช่วงนี้คนเดินทางน้อย ยอดขายลดลง และมาเจอราคาน้ำมันแพง ยิ่งทำให้ช่วงนี้ต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อเป็นสภาพคล่องในธุรกิจ เช่น สต๊อกขายวันละ 1 แสนลิตร ราคาน้ำมันเบนซินไป 40 บาท ก็ต้องมีเงินหมุนเวียน 3-4 ล้านบาท

“แต่สิ่งที่เห็นมากขึ้น คือผู้ประกอบการหันมาแข่งขันเปิดปั๊มน้ำมันที่เป็นลักษณะมีคอมมิวนิตี้มอลล์เพิ่ม เพราะจะสร้างรายได้มากกว่าขายน้ำมันอย่างเดียว โดยจะเห็นปั๊มใหญ่ ๆ สร้างกันนอกชานเมืองมากขึ้น” นายศิริเดชกล่าว

ขายน้ำมันอย่างเดียวลำบาก

นายเอกชัย วงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอปิโตรเลียม จำกัด จังหวัดแพร่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมา 30 ปี มีปั๊มน้ำมัน 11 แห่ง ลงทุนเองทั้งหมดเป็นแบรนด์ ปตท. 9 แห่ง บางจาก 2 แห่ง กระจายในถนนสายหลัก และสายรองในจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ และลำปาง

โดยปั๊ม ปตท.แห่งที่ 11 เพิ่งเปิดเมื่อปี 2564 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมองว่าในวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ธุรกิจปั๊มน้ำมันยังเดินหน้าไปได้ เพราะน้ำมันถือเป็นสินค้าจำเป็น และเชื่อมั่นในแบรนด์

อย่าง ปตท.มีธุรกิจน็อนออยล์ เช่น ร้านกาแฟอเมซอน และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น มาเสริมรายได้ นอกจากนี้มีรายได้จากพื้นที่ให้เช่า ส่วนผลกำไรจากค่าการตลาดน้ำมันนั้น ทางบริษัทให้เท่าเดิม ลิตรละ 1 บาท แต่ถ้าปั๊มน้ำมันรายไหนมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องก็ขอขยายเครดิตเทอมกับบริษัทแม่ได้ ถ้ามีความจำเป็น ซึ่งก็จะมีการคิดดอกเบี้ย

“เราเข้าใจว่าบริษัทแม่ก็เหนื่อย ทั้ง ปตท.และบางจาก ต้องแบกต้นทุนน้ำมันช่วยประชาชน ราคาน้ำมันประเทศไทยยังไม่ขึ้นมาก หากเทียบกับต่างประเทศ 60-70 บาทต่อลิตร ประเทศไทยอยู่ที่ 30-40 บาทต่อลิตร ขณะที่ยอดขายน้ำมันของบริษัทยังปกติ ไม่เคยขอขยายเครดิตเทอม ผมไม่ได้ร่ำรวย แต่ไม่อยากเป็นหนี้หลายทาง ปัจจุบันยังผ่อนเงินกู้กับธนาคารอยู่”

นายเอกชัยกล่าวต่อไปว่า น้ำมันลิตรละ 30 บาท บริษัทแม่ให้เจ้าของปั๊มน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร ขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่อนสินเชื่อเงินกู้ธนาคารอีก ซึ่งบริษัทแม่จ่ายอัตรานี้มาประมาณ 5 ปีแล้ว การขยับขึ้นมาไม่ทันเงินเฟ้อและค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการปั๊มเหนื่อย คนคิดว่าคนทำธุรกิจปั๊มน้ำมันรวย ไม่เป็นความจริง ยังมีผู้ประกอบการที่ลำบาก ถ้าขายน้ำมันอย่างเดียว ไม่มีธุรกิจน็อนออยล์เสริม

ปั๊มอิสระปิดตัวระนาว

แหล่งข่าวจากวงการจ็อบเบอร์น้ำมันภาคใต้ตอนล่างเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ธุรกิจปั๊มน้ำมันยอดขายตกทยอยต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคต้องมีการปรับพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อปั๊มน้ำมัน ทั้งมีแบรนด์และปั๊มน้ำมันอิสระ ส่งผลให้ยอดขายตกลงมา ภาพรวม ๆ ประมาณ 40%

โดยในส่วนปั๊มน้ำมันมีแบรนด์ขนาดใหญ่ ทั้ง ปตท. เอสโซ่ เชลล์ คาลเท็กซ์ ฯลฯ ต่างมีการปรับกลุยทธ์เน้นทำตลาด nonoil ร่วมในพื้นที่ปั๊มน้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ศูนย์อาหาร ร้านเสื้อผ้า เป็นต้น

ในส่วนของปั๊มน้ำมันอิสระที่ตั้งอยู่ริมถนนสายหลักก็ทยอยปิดตัวลง คาดว่าประมาณ 2 ปีจะปิดตัวลงหมด จากปัจจัยคือคู่แข่งปั๊มมีแบรนด์ที่มีจุดเด่นความได้เปรียบเป็นจุดขาย และถ้าอยู่ในทำเลดี ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ก็จะมาเช่า ปรับเปลี่ยนเป็นปั๊มแบรนด์ใหญ่แทน

โดยปั๊มน้ำมันอิสระที่ยังอยู่ได้ คือที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนใหญ่สายหลัก และเขตเทศบาล ที่มีผู้ใช้บริการในตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งเป็นขาประจำเป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับยอดขายน้ำมันตามปั๊มต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ที่ลดลงเป็นปัญหาต่อเนื่องมา 4-5 ปีแล้ว จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ไม่มีการลงทุนทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ไม่มีการลงทุนก่อสร้าง เช่น ระบบชลประทาน ถนน อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งหิน ดิน ทราย เหล็ก รวมถึงการขนส่งสินค้าการเกษตร การค้าสัตว์น้ำ และสินค้าอื่น ๆ ที่ลดลงไป

ส่งผลให้ปริมาณรถบรรทุกที่วิ่งขนส่งสินค้าทั้งจากกรุงเทพฯลงมาภาคใต้ และรถจากภาคใต้ที่วิ่งขึ้นไปกรุงเทพฯลดลง ส่งผลต่อปั๊มน้ำมันโดยตรง ทำให้ยอดขายน้ำมันลดลงมาก

แบงก์สกรีนปั๊มน้ำมันเสี่ยงสูง

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด วันไชยปิโตรเลียม แอนด์ เซอร์วิส เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นทำให้ปั๊มน้ำมันต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น ซื้อน้ำมันจากคลังน้ำมันต่อรถบรรทุกขนาด 15,000 ลิตร ก่อนหน้านี้ ราคาประมาณ 300,000 บาท/คัน/เที่ยว

แต่ปัจจุบันต้องใช้เงินกว่า 400,000 บาท/คัน/เที่ยว และปั๊มส่วนใหญ่ขอสินเชื่อมาลงทุนน้ำมัน ทำให้ปัจจุบันธนาคารทำการพิจารณาเงินกู้เรื่องลงทุนน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง คือถ้ามีการปล่อยสินเชื่อจะต้องดูแลรายละเอียดมาก

อย่างไรก็ดี การลงทุนธุรกิจปั๊มน้ำมัน ทำเลที่ตั้งเป็นสิ่งสำคัญ ที่ดินต้องติดถนนใหญ่ เป็นแหล่งทำเลดี มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม การขอสินเชื่อจากธนาคาร บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์จะช่วยดำเนินการอำนวยความสะดวกให้จึงเกิดความเชื่อมั่นกับธนาคาร ดังนั้นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อก็จะง่ายขึ้น

“ตอนนี้การลงทุนธุรกิจปั๊มน้ำมันต้องใช้งบประมาณ 50 ล้านบาทกับปั๊มขนาดใหญ่จึงจะแข่งขันได้ เพราะปั๊มที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต้องเป็นสถานีบริการที่พร้อมทุกอย่างคือต้องทำธุรกิจ nonoil เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ถึงจะอยู่ได้”

OR ช่วยดีลเลอร์รับมือต้นทุน

นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ ORion บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่ได้รับทราบขณะนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มดีลเลอร์ซึ่งมี 80% ของสถานีบริการทั้งหมด ได้มีการขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องเสริมสภาพคล่องสำหรับภาระต้นทุน

“ถามว่าจังหวะนี้สถานการณ์ดีลเลอร์จะเป็นอย่างไรเมื่อต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น ก็ยังอยู่ได้ เพราะโออาร์ได้ช่วยเหลือดีลเลอร์ โดยพิจารณาแต่ละรายขายเท่าไหร่ หายไปเท่าไร แต่ละราย และเราควรช่วยไหม เพราะต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่คอนโทรลไม่ได้ เราก็ไปช่วยแต่ละที่ตามที่พิจารณา ซึ่งปัจจุบันสถานีบริการมี 2,000 จุด เป็นดีลเลอร์ 80%”

พร้อมกันนี้ ทางโออาร์ได้เริ่มดำเนินมาตรการเพิ่มสต๊อกน้ำมัน ตามที่นโยบายของกระทรวงพลังงานที่มอบให้กรมธุรกิจพลังงาน ประกาศเพิ่มอัตราการเก็บสำรองน้ำมัน ในส่วนของผู้ค้า มาตรา 7 เพิ่มขึ้นอีก 1% ตามกฎหมาย พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว คาดว่าต้นทุนการสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

หากคิดทอนเป็นราคาน้ำมันแล้วจะไม่สูงมาก คิดเป็นเพียงหลักสตางค์ต่อลิตร แต่สิ่งสำคัญคือมาตรการนี้จะเป็นการเสริมความมั่นใจช่วยให้ไทยไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมัน