ราคาน้ำมันแพง เปิดเหตุผล มากกว่าตัวเลขที่ปรับสูงขึ้น

น้ำมันแพง เพราะอะไร

เปิดสาเหตุการปรับราคาน้ำมันทั่วโลก ตอบคำถามจากความกังวลใจของผู้ใช้น้ำมันในไทย ว่าแท้จริงแล้ว ทำไมราคาน้ำมัน “แพง”

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤต “ราคาน้ำมันแพง” ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ซึ่งล่าสุดราคาพุ่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากผลการวิเคราะห์ของธนาคารระดับโลกอย่าง “มอร์แกนสแตนลีย์” เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบจะทะยานไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 มีการปรับขึ้นลงแล้ว 8 ครั้ง (เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.65) โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29 บาทต่อลิตร และน้ำมันโซฮอล์อยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร ซึ่งผู้ใช้น้ำมัน ยังเฝ้าจับตารายวันว่า ราคาน้ำมัน “พรุ่งนี้” จะปรับขึ้นอีก หรือมีโอกาสปรับลดลงหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปปัจจัยที่เป็นตัวหนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้

ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน

สาเหตุหลักของราคาน้ำมันแพง “ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์” ระบุว่าไว้ในคอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความขัดแย้งเรื่อง “ยูเครน” ระหว่างรัสเซีย (ชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก) ฝ่ายหนึ่ง กับบรรดาชาติตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงซัพพลายของตลาดน้ำมันโลกได้ในทันที

โอเปก กำลังการผลิตลดลง

รายงานผลการวิเคราะห์ของ “เจพี มอร์แกน” เมื่อต้นเดือนมกราคมเตือนเอาไว้ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อาจทะลุขึ้นไปอยู่ในระดับ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในอีกไม่ช้าไม่นาน โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะกำลังการผลิตสำรองของชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ “โอเปค” ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยถึงไตรมาส 4 ของปี 2565 กำลังการผลิตสำรองที่ว่านี้ จะลดลงเหลือเพียง 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

โควิด-19 คลี่คลาย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น ทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตน้อยลง ท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอน ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่า สายพันธุ์ดังกล่าว อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โควิดเป็นเหมือนโรคไข้หวัดทั่วไปได้ และทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับความปกติมากที่สุด และจะอาจทำให้ไม่มีการประกาศล็อกดาวน์อีกต่อไป ส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มมากขึ้น

ยุโรปเข้าหน้าหนาว

นอกจากนี้ สภาพอากาศหนาวเย็นอันเนื่องมาจากพายุฤดูหนาวในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง และไฟฟ้าดับหลายพันครัวเรือน โดยอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องปิดทำการ ในขณะเดียวกัน ความต้องการใช้เชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้น

ความจริงแล้ว “ไทย” น้ำมันแพงเพราะอะไร

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงในไทย นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้สัมภาษณ์กับ มติชนออนไลน์ ว่า แม้ไทยจะขุดน้ำมันได้เยอะ แต่ก็ต้องนำเข้าเป็นหลัก เพราะการจัดหาพลังงานในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ

ข้อมูลเฉลี่ยเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 951,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดิบ และต้องผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อแยกสารประกอบออกเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ

โดยที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยถูกออกแบบมาเพื่อกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปสำหรับใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยการอ้างอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียบวกกับค่าขนส่งมายังโรงกลั่นในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในประเทศต้องไม่สูงกว่าราคาที่อ้างอิง

แก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างไร

นายวัฒนพงษ์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานมีมาตรการต่าง ๆ ช่วยบรรเทาผลกระทบภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

รวมทั้งยังดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และดูแลราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แม้กระทรวงพลังงานดำเนินการมาตรการต่างๆ แล้ว แต่ราคายังคงผันผวนในระดับสูง

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงมีมติออกมาตรการช่วยเหลือให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยกู้ยืมเงินเพิ่มไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว

ซึ่งประเมินแล้วว่าน่าจะเพียงพอถึงไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจาก 0.10 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่อัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี และจัดเก็บในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตรต่ออีก 2 ปี รวมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงคงค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร