“กอบศักดิ์” ชี้ดอลลาร์แข็งค่าสุดรอบ 2 ปี เตือนรับมือ ปีแห่งความผันผวน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ชี้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสุงสุดรอบ 2 ปี สู่ระดับก่อนโควิด ระบุปีนี้เป็นปีแห่งความผันผวน “Economic Turbulence 2022” เพิ่มแรงกดดัน “บาทอ่อน” ส่งผลผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก

วันที่ 12 เมษายน 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Dr.KOB” ระบุถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐว่า ดอลลาร์ แข็งสุดในรอบ 2 ปี !! กลับไปที่เดิมก่อนเกิดโควิด-19

ทั้งนี้ จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสามเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา คงต้องบอกว่าระบบเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของความผันผวน “Economic Turbulence 2022”

จากเดิมที่เศรษฐกิจซึม ๆ ช่วงโควิด ไปสู่ช่วงการฟื้นตัวเมื่อปีที่แล้ว และล่าสุดได้เข้าสู่ Phase ใหม่ที่กัปตันเครื่องบินคงเตือนว่า เข้าสู่ช่วงอากาศแปรปรวน ที่อันตราย อะไรก็เกิดได้ (ดัชนีเศรษฐกิจต่าง ๆ จากที่ปรับวันละเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจจะพุ่งขึ้นลง แบบที่ไม่คาดมาก่อน) และขอให้ “ผู้โดยสารทุกคนกรุณาคาดเข็มขัด”

“หนึ่งในสิ่งที่หลายคนจับตามองคือ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ล่าสุดช่วงสองวันที่ผ่านมา ได้ทะลุระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ถ้าไม่นับช่วงที่คนวิ่งเข้าหาดอลลาร์ หา Safe Haven ช่วงปิดเมืองพร้อมกันทั่วโลกในต้นปี 2020 ก็นับได้ว่ารอบนี้ เงินดอลลาร์ได้กลับไปที่เดิมก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว

จากที่ต่ำสุดช่วงโควิดมาถึงปัจจุบัน ได้แข็งขึ้นมากกว่า 10% เรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกินคาด วันต่อวัน เราคงไม่รู้ว่า ค่าเงินจะขึ้นลงอย่างไร แต่แนวโน้มเป็นสิ่งที่พอมองเห็นได้บ้างจาก ความต่างของนโยบาย” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ล่าสุด จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีกว่าคนอื่น ทำให้เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อน ธนาคารกลางของประเทศใหญ่อื่น ๆ ขึ้นก่อนยุโรป ขณะที่ญี่ปุ่นยังต้องดูแลกดดอกเบี้ย และจีนที่ต้องพยุงเศรษฐกิจสู้กับวิกฤตอสังหาฯของตน

ยิ่งไปกว่านั้น เฟดจะต้องเริ่มดูดสภาพคล่องกลับก่อนทุกคน ในอัตราเร่ง เพื่อให้ทันกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ตามด้วยยุโรปที่ยังต้องรอดูเรื่องผลกระทบจากสงคราม ส่วนญี่ปุ่นและจีนต้องอัดฉีดสภาพคล่องกันไปต่อ

“ในภาวะเช่นนี้ เงินก็จะไหลกลับไปที่สหรัฐ ไม่น่าแปลกใจว่า ค่าเงินดอลลาร์จึงแข็งค่าต่อเนื่อง และอาจจะแข็งค่าไปอีกระยะ (แม้ว่าจะขึ้นมามากแล้ว) โดยระดับต่อไปที่ต้องจับตามอง คือ 104 ที่เป็นระดับสูงสุดในปี 2017 ในช่วงทำ Quantitative Tightening รอบที่แล้ว


ทั้งนี้ ช่วงดอลลาร์แข็งก็จะมีแรงกดดันต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ รวมถึงบาท ให้อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา และมีนัยยะไปยังผู้ส่งออก นำเข้าต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนในช่วง Economic Turbulence 2022 ครับ” ดร.กอบศักดิ์ระบุ