ธปท.-คลังจับมือแบงก์อุ้มหนี้ โควิด-สงคราม สะเทือน SME 6 หมื่นราย

คลัง แบงก์ชาติ

แบงก์เดินหน้าอุ้มลูกหนี้เอสเอ็มอีกว่า 6 หมื่นรายต่อเนื่อง หลังคลังดึง บสย.ช่วยค้ำประกันจ่ายคืนหนี้ “ซอฟต์โลน” แบงก์ชาติ รัฐบาล ควักกระเป๋ารับภาระจ่ายชดเชยความเสียหายกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

“กสิกรฯ” ชี้ลูกหนี้บางส่วนชำระไม่ไหว เหตุเจอสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” เข้ามาซ้ำผลกระทบโควิดอีกดอก “แบงก์กรุงเทพ” เผย “ค้าปลีก-รับเหมา” เจอดิสรัปต์หนักบางส่วนไปต่อไม่ไหว ฟาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เจาะไส้ในเอสเอ็มอีที่ได้รับซอฟต์โลนเปราะบางเพียบ

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เข้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) กำลังจะทยอยครบกำหนด 2 ปี

ที่จะต้องชำระเงินคืนตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการให้สินเชื่อเมื่อปี 2563 หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19

ล่าสุดมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยดูแลต่อ โดยจัดทำโครงการ “ซอฟต์โลน เอ็กซ์ตร้า พลัส” วงเงิน 9 หมื่นล้านบาทค้ำประกันเพิ่มเติม โครงการนี้รัฐบาลช่วยค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 0.75% ต่อปี นานเป็นเวลา 2 ปี ดังนั้น ลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 1% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในปลายเดือน เม.ย.นี้

“ผู้ประกอบการที่จะทยอยครบกำหนดชำระหนี้ซอฟต์โลนตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ หากลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้จะเข้าโครงการใหม่ของ บสย.ที่จะเป็นการขออนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ เพื่อนำไปชำระหนี้ ธปท.ตามกำหนด

ขณะที่ลูกค้าที่มีหลักประกันก็สามารถจดจำนองหลักประกันเพิ่มเติม โดยธนาคารจะมีการปรับคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นปกติในส่วนที่ครบกำหนด 2 ปี โดยหากเป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% ต่อปี และลูกค้าขนาดใหญ่จะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% ต่อปี” นายชัยยศกล่าว

สำหรับเอสเอ็มอีที่ใช้วงเงิน “ซอฟต์โลน” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ฟื้นตัว เช่น ธุรกิจโรงแรม ค้าขาย และโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งเดิมคาดว่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังมีการเปิดประเทศ

แต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและรัสเซีย ทำให้ธนาคารต้องช่วยเหลือลูกค้าต่อไปอีกมากกว่า 1 ปี

“ต้องประคองลูกค้าไปอีกจนกว่าเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวจะกลับมาปกติ โครงการใหม่ของ บสย.เป็นการนำวงเงินสินเชื่อไปคืน ธปท.ตาม พ.ร.ก.ที่ครบกำหนด 2 ปี คาดว่าทั้งระบบจะใช้วงเงินรวมกันราว 3-4 หมื่นล้านบาท อย่างกสิกรไทยก็ใช้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท เพราะลูกค้าบางส่วนมีการจำนองหลักประกันเพิ่มแทน” นายชัยยศกล่าว

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ลูกค้าของแบงก์บางส่วนในโครงการซอฟต์โลนที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่อง เป็นกลุ่มที่ธนาคารให้การช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งการให้วงเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 6-12 เดือน

“ลูกค้าที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้มีไม่มาก และขอปิดกิจการไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่โดนดิสรัปชั่น อาทิ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มรับเหมา ส่วนที่ยังต้องประคองกันไปก็จะมีโครงการซอฟต์โลน เอ็กซ์ตร้า พลัส ออกมาช่วยเหลือลูกค้าที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาลูกค้าธนาคารที่ใช้ซอฟต์โลนมีสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 10-20% ของวงเงินทั้งโครงการ” นายศิริเดชกล่าว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มีการให้สินเชื่อซอฟต์โลนไปทั้งสิ้นราว 1.38 แสนล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวราว 9.2 หมื่นล้านบาท หรือ 67% ของวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อทั้งหมด

“หากดูไส้ในของวงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท จะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่อยู่ในภาวะเปราะบางและแย่มาก บางกลุ่มก็สามารถกลับมาได้ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องท่องเที่ยว ที่พักแรม ขนส่งผู้โดยสาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ค้าปลีก ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์” นางสาวกาญจนากล่าว

รายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อซอฟต์โลนคงเหลือ 69,082 ราย วงเงินรวม 128,865 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีลูกหนี้จำนวน 60,838 ราย คิดเป็น 88% จะครบกำหนดภายในเดือน เม.ย.-ต.ค. 2565 จึงมีการให้ บสย.เข้ามาช่วยดูแลผ่านการทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เรียกว่า ซอฟต์โลน เอ็กซ์ตร้า

ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยรับภาระจ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 15,750 ล้านบาท และการปรับปรุงโครงการซอฟต์โลนพลัส ซึ่งรัฐบาลต้องชดเชยเป็นจำนวน 104.27 ล้านบาท หรือรวมแล้วรัฐบาลรับภาระชดเชยทั้งสิ้น 15,854.3 ล้านบาท